top of page
  • Writer's pictureNIA 100 FACES

ชาตรี ก่อเกื้อ | น้อมนำ ต่อยอด พัฒนา นำพาชุมชนรอดวิกฤต

Updated: May 13, 2023




ความผันผวนของโลกในทุกมิติ โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจ ส่งผลให้ทุกคนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด รวมทั้งเกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพที่แสดงถึงความมั่นคงยั่งยืนในการใช้ชีวิตอย่างชัดเจน นายชาตรี ก่อเกื้อ ผู้ใหญ่บ้านจำรุง หมู่ 7 ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง วัย 60 ปี ที่หลายคนเรียกว่า “ผู้ใหญ่ชาตรี” มุ่งมั่นแก้ปัญหาความยากจนในชุมชน ตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และส่งเสริมให้ทุกคนเข้าใจหลักการ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ผลักดันการสานต่อ ต่อยอด พร้อมทั้งกลยุทธ์การแบ่งปันที่เป็นแก่นสำคัญ ทำให้ชุมชนสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนจนถึงทุกวันนี้


บ้านจำรุงเป็นหมู่บ้านต้นแบบการนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในชุมชนตั้งแต่ปี 2532 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 33 ปีแล้วที่หมู่บ้านจำรุงสร้างปราชญ์ชาวบ้านกว่า 20 คน เป็นพี่เลี้ยง เป็นครู เป็นผู้ถ่ายทอดวิชาและองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ทั้งการปลูกพืชเศรษฐกิจ การใช้สมุนไพร ศิลปวัฒนธรรม ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่หมู่บ้านของตนเอง ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ยืนด้วยลำแข้งของตัวเองมาโดยตลอด ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากรัฐเพียงอย่างเดียว มากไปกว่านั้น ชุมชนแห่งนี้ยังแบ่งปันองค์ความรู้ไปสู่คนรุ่นต่อไป รวมทั้งผู้คนจากชุมชนต่างถิ่นที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ดูงานอีกเป็นจำนวนมาก


ผู้ใหญ่ชาตรีเล่าว่า จากที่ต่างคนต่างแก้ปัญหา ชุมชนแห่งนี้ใช้การอยู่ร่วมกันแบบเครือญาติช่วยให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยน ปรึกษากันเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแก่น ชุมชนจึงรอดพ้นวิกฤตต่าง ๆ มาได้ ในปัจจุบันนับว่าบ้านจำรุงเป็นชุมชนที่มีปราชญ์ชาวบ้านจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์ COVID-19 คนรุ่นใหม่หวนกลับสู่บ้านเกิด ทำให้ชุมชนมีกำลังในการพัฒนาตนเองมากขึ้น ที่สำคัญ การหลอมรวมคนยุคใหม่และคนยุคเก่าเข้าด้วยกันย่อมนำไปสู่การพัฒนาที่ทำให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงความสำคัญของการเกษตรที่เป็นหัวใจและรากฐานที่สำคัญของประเทศ


“ตอนนี้เรามีปราชญ์หมู่บ้านกว่า 20 คน คอยให้ความรู้แก่ชาวบ้านในชุมชน และนอกชุมชนที่สนใจในด้านต่าง ๆ ทั้งการผลิตกะปิ น้ำปลา ผลิตภัณฑ์จากยางพารา ระยองเรามีทุเรียนขึ้นชื่อ เป็นรายได้ของคนในชุมชน เราเรียนรู้ที่จะแปรรูปเป็นทุเรียนทอด ทุเรียนกวน ทำของขาย ขณะเดียวกันเราก็แบ่งปันกันเองในชุมชนทำให้ไม่เกิดความขาดแคลน ใครมีอะไรไม่มีอะไรก็แบ่งกัน”


เราใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐาน นำความรู้มาต่อยอด จากนั้นก็แบ่งปันกัน สถานการณ์ COVID-19 เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า...เราอยู่รอด

ผู้ใหญ่ชาตรียังส่งต่อองค์ความรู้และวิถีชีวิตความยั่งยืนในการอยู่รอดท่ามกลางเศรษฐกิจที่ผันผวนแก่คนในชุมชนและพื้นที่อื่น ๆ โดยจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งสิ่งที่ผู้ใหญ่ภูมิใจมากที่สุดคือช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด ชุมชนยังมีเงินทุนกองกลางจากการขายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สามารถหล่อเลี้ยงชุมชน โดยใช้ช่วยเหลือชาวบ้าน ซื้ออาหารแจกจ่าย รวมทั้งต้นทุนที่มีอยู่เดิม คือ สมุนไพร พืชผัก ผลไม้ ที่สามารถนำมาแปรรูปไว้รับประทาน ไว้รักษาโรค และแบ่งปันกัน ไม่เกิดภาวะการแย่งชิงอาหารหรือยาเหมือนในสังคมเมือง ความยั่งยืนท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้ทำให้บ้านจำรุงกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนในหลาย ๆ พื้นที่


“อยากให้คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตร เนื่องจากเป็นความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการดำรงชีวิต วันนี้คนมีที่ดินอยู่รอดมากกว่าคนที่มีเงิน และคนมีความรู้ทางการเกษตรคือ คนที่จะส่งต่อความยั่งยืนให้กับสังคมและโลก ทรัพย์สมบัติในโลกนี้ไม่มีอะไรมีค่าเท่ากับแผ่นดิน หากมีแผ่นดิน เราสามารถดำเนินวิถีชีวิตพอเพียงตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงให้แนวทางไว้ ทุกคนทำได้ อยู่รอดแน่นอน ซึ่งพิสูจน์แล้ว เราทำแล้ว สิ่งนี้ทำให้เกิดความสุขได้จริง ๆ”


ความสำเร็จของบ้านจำรุงมาจากการน้อมนำ การคิด การพัฒนา และการร่วมมือ ซึ่งล้วนเป็นกลยุทธ์ที่สามารถลงมือทำเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่ระดับชุมชนและจนถึงระดับชาติ ที่สำคัญ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวจะเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนอยู่รอดในทุกสถานการณ์


 

Chatree Kokeua | Banjumrung Community Learning

Adopt, extend, develop and lead the community out of a crisis


“We use the sufficiency economy is the basis, build upon it, and create the culture of sharing. The COVID-19 crisis is proof of our strength.”


The rapidly changing world, especially in terms of the economy, requires all of us to adapt in order to survive. Agriculture is no exception, as it has a lot to do with sustenance of all lives. Chatree Kokeua or “Phu Yai Chatree”, sixty-year-old village chief, has strong determination to fight poverty in Banjumrung, Moo 7, Noen Kho sub-district, Klaeng district, Rayong. He builds on the sufficiency economy principles and helps his community stand on its own feet to this day.


Intended to be a model village, Banjumrung adopted the sufficiency economy principles in 1989. Thirty-three years since, it has given rise to twenty village philosophers and has generated bodies of knowledge on cash crops, uses of herbs, art and culture, and career-building, which has strengthened the village thus far. Moreover, the community is capable of sharing said knowledge to both the new generations and their neighbors. The community becomes the breeding ground for tangible collaboration among its members, as well as accumulation of knowledge that can be passed on to the next generations. The latter aspect was especially relevant for the COVID-19 crisis, during which a wave of youngsters left the capital city and returned to their hometown.


“I want to see more interest in the agricultural sector, which is fundamental to food security, from the new generations. These days, people are better off with land than money. Those who have agricultural knowledge will be able to pass on sustainability for the society and the world at large.” said Chatree.





15 views0 comments
bottom of page