top of page

มีชัย แต้สุจริยา | บ้านคำปุน เส้นทางใหม่ของสายไหม

Writer: NIA 100 FACESNIA 100 FACES

Updated: Jun 19, 2021



นอกจากถ่ายทอดและสืบสานภูมิปัญญามรดกผ้าไทย มีชัย แต้สุจริยายังถักทอแนวคิดและวิธีการใหม่ ๆ เพื่อต่อเติมเส้นทางไหมไทยให้เติบโตได้อย่างสง่างามในปัจจุบัน


“มีชัย แต้สุจริยา” ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านคำปุน เติบโตมาในตระกูลทอผ้าที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ได้มีโอกาสรู้จักกับดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียง ทั้งยศวดีบุญหลง, สมชาย แก้วทอง และคุณโนริโกะ (นงนุช โรจนเสนา) ได้เห็นและซึมซับวิธีการทำงานจนเข้าใจความต้องการใช้ผ้าที่แตกต่างกันไปตามเทคนิคการออกแบบและตัดเย็บบวกกับคำแนะนำของบรรดาดีไซเนอร์ ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจที่จะออกแบบผ้าไทยให้ตอบสนองความต้องการที่แตกต่าง

“ผ้าไม่ได้เป็นเพียงแค่ผ้าที่เอามานุ่ง ห่มหรือพัน เราต้องเรียนรู้ที่จะทำงานทดลองหารูปแบบความงามและสามารถตอบสนองผู้ใช้ ซึ่งไม่ใช่แค่ใช้ แต่ต้องใช้แล้วพอใจด้วย” มีชัยเล่า สำหรับเขาสิ่งสำคัญในการทอผ้าคือต้องคำนึงถึงเทคนิคความประณีตงดงาม ตลอดจนสัมผัสของเนื้อผ้า ความทิ้งตัวไม่ว่าจะสวมใส่อยู่หรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงกาลเทศะด้วย “ประเทศไทยไม่ได้ใช้ผ้าเหมือนประเทศอื่นที่มีฤดูกาล แต่คนไทยมีคำว่ากาลเทศะ ใช้ในสถานที่และเวลาที่เหมาะสม เป็นสิ่งที่ดีไซเนอร์ควรรู้ นอกจากนี้ สถานภาพก็สำคัญมากว่าคนระดับไหนใช้อย่างไร เราต้องเรียนรู้ว่าเรามีอะไร”


ฝีมือพัฒนาผ้าของมีชัยโดดเด่นจนได้รับเลือกให้ทำผ้าให้กับภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวร และยังได้รับการตรัสชมจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการออกแบบผ้าปูม (ผ้าไหมสำหรับผ้านุ่งโจงทอด้วยเทคนิคมัดหมี่) “ในฐานะที่เกิดมาชาติหนึ่งและทำงานด้านนี้ เรามีความพอใจที่ได้สร้างเทคนิควิธีใหม่ ๆ คอมบิเนชันใหม่ ๆให้เกิดขึ้นให้กับวงการทอผ้าของไทย และต่อยอดในสิ่งที่บรรพบุรุษทำมา และไม่ใช่อยู่ดี ๆ ก็เอามาทำไม่ใช่แค่ให้แปลก แต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะรักษามรดกวัฒนธรรมด้วย”


เรามีความพอใจที่ได้สร้างวิธีการและคอมบิเนชั่นใหม่ๆ ให้กับวงการทอผ้าของไทย ไม่ย้อนกลับไปทำซ้ำสิ่งที่บรรพบุรุษทำมา

สมัยที่มีชัยเริ่มพัฒนาผ้าแรก ๆ ยังไม่มีใครกล้าพลิกแพลงการออกแบบผ้าแบบใหม่ เนื่องจากเดิมอุบลราชธานีเป็นเมืองที่รุ่งเรืองด้วยวัฒนธรรม เคยมีเจ้าครองนคร จึงมีขนบแบบแผนค่อนข้างมากเขาจึงให้ความระมัดระวังในการที่จะออกแบบผ้าใหม่ไปพร้อมกับรักษามรดกดั้งเดิมไปพร้อมกัน มีชัยคิดว่าไม่จำเป็นต้องเอาลวดลายจารีตเดิมมาทำซ้ำแต่สามารถพัฒนาต่อยอดเทคนิคใหม่ได้ อย่างเช่นการพัฒนาผ้ากาบบัวซึ่งใช้เทคนิควิธีดั้งเดิมมาผสมผสานกันถึง 4 วิธี นั่นคือ ทิว มัดหมี่ หางกระรอกขิด (ยก) ผ้าที่เขาพัฒนาขึ้นได้กลายเป็นผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดอุบลราชธานี และได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกชาติในปี 2557 ทั้งยังได้รับเลือกให้เป็นของขวัญผ่านทางคิงเพาเวอร์ทูลเกล้าฯ ถวายเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงเคท ในโอกาสเสด็จฯ เยือนเมืองเลสเตอร์อีกด้วย

ในการออกแบบผ้ากาบบัวของมีชัย ไม่เพียงแต่เป็นการออกแบบเทคนิคลายผ้าเท่านั้น แต่ยังมุ่งสืบสานมรดกพื้นบ้าน และสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น ปัจจุบันเขาได้พัฒนาชุมชนทอผ้าในจังหวัดอุบลราชธานีขึ้นมาอย่างน้อย 5 ชุมชนให้สามารถทอผ้าเพื่อเลี้ยงชีพ และพัฒนาผ้าจนเกิดลวดลายใหม่นั่นคือผ้ากาบบัวแสงแรกซึ่งถือเป็นผ้าที่คิดขึ้นเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง จึงกล่าวได้ว่านอกจากการพัฒนาลวดลายแล้ว เขายังช่วยพัฒนาระบบ และมุมมองของชาวบ้านที่ต่อภูมิปัญญาให้คงอยู่และสร้างแนวทางที่จะดำเนินต่อไป

เขากล่าวว่า “การพัฒนาคือการเรียนรู้ การเป็นศิลปินอาจจะเรียนรู้จากภายใน แต่ในฐานะที่เราทำผ้า เราต้องเรียนรู้จากภายนอก จากคนหลาย ๆ กลุ่มซึ่งมีมุมมองที่ต่างกัน เราต้องการให้คนมีความสุขที่ได้ใช้ผ้าและได้เห็นผ้า เราจะไม่ย้อนกลับไปทำในสิ่งที่เราทำมาแล้ว การทำให้ผ้ามีเอกลักษณ์ สร้างความแตกต่าง ทำให้เราไม่ย่ำอยู่กับที่”


 

A New Line of Silk Thread

Meechai Taesujariya grew up in a textile-based family in Ubon Ratchathani. Pursuing his higher education in Bangkok, he had opportunities to get in touch with renowned designers namely Yoswadee Boonlong, Somchai Kawtong and Theerapan Wannarat, who inspired him to make Thai fabrics “for not only day-to-day usage but also wearers’ satisfaction”. Playing around Thai fabrics requires him to “take into consideration not only the country’s seasonality but also the sense of time and place”. Meechai’s skill gained visibility through his role as a costume designer for The Legend of King Naresuan, which granted him the praise from Queen Mother Sirikit of Thailand. His creativity, complemented by the understanding of the history of his hometown, enables him to not only preserve the cultural heritage but also develop several new, unique weaving patterns. One of Meechai’s work became the official symbol of his hometown, the national heritage in 2014 and presented as a gift of honour before Prince William and Kate during their visit to Leicester. Furthermore, Meechai’s work also paved the way to carry on the local wisdom and livelihood in at least five textile-based communities in his hometown. “Development is a learning process. As a designer, you learn from not only the inside but also outside, i.e. from several group of people, each with its own perspective. The very goal of your work is to make people happy. It is all about setting yourself apart from others that makes you long-running in your career path.”, quoted Meechai.

Comments


โทรศัพท์ : 02-017 5555  I  โทรสาร :  02-017 5566  I  อีเมล์ : info@nia.or.th

© 2022 สมิทธิ์ บุญชุติมา

  • Facebook
  • Instagram
bottom of page