top of page
  • Writer's pictureNIA 100 FACES

ปารวี โมรา | หัวใจสำคัญของการพัฒนาวิถีชีวิต คือ การศึกษา ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างความยั่งยืน

Updated: May 13, 2023





คำว่า “ครู” มีความหมายที่ยิ่งใหญ่ ด้วยเป็นผู้ให้ทั้งความรัก ความเสียสละ เปรียบดังเรือจ้างที่ช่วยส่งให้ลูกศิษย์ถึงฝั่งฝัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ “ครูอาสา” ที่นำพาโอกาสทางการศึกษามาสู่เด็กด้อยโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และยังขับเคลื่อนกระบวนการเรียนการสอนตามพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนทั้งเทคโนโลยีและบุคลากร ครูอาสาเหล่านี้เป็นทั้งครู นักเทคโนโลยี นักสื่อสาร นักซ่อม นักสร้าง นักปลูก เป็นทุกสิ่งให้กับเด็ก ๆ และเป็นผู้คืนความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาที่ยังคงไม่ทั่วถึงจนกระทั่งทุกวันนี้


ปารวี โมรา หรือ ครูบี นักเดินทางและครูอาสาบนดอย เจ้าของเพจ ‘การเดินทางของปารวี’ หนึ่งในผู้ปลุกกระแสครูดอยในสังคม และกระแสที่ช่วยให้ผู้คนสนใจสร้างประโยชน์นอกเหนือจากการเป็นเพียงนักเดินทาง


จุดเริ่มต้นในการเป็นครูอาสาของครูบีมาจากการประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ตกเหวในอดีต เธอฉุกคิดว่าชีวิตนี้จะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน จึงอยากใช้เวลาในชีวิตที่เหลือให้เกิดประโยชน์ จนวันหนึ่งเธอเจอโพสต์รับสมัครครูอาสา จึงไม่รีรอที่จะพาตัวเองเข้าไปทำในสิ่งที่หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้


“จากการเป็นนักเดินทางขึ้นดอยทำให้มีโอกาสเห็นว่าเด็ก ๆ ที่นั่นแทบไม่มีของเล่น ไม่มีอุปกรณ์การเรียนเหมือนกับเด็ก ๆ ทั่วไป การมาโรงเรียนก็ลำบาก การที่เราเป็นครูอาสา เราสามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตนเอง เอาของเล่นไปให้เด็ก ๆ เอาความรู้แบบที่เด็กในเมืองเรียนไปสอน ปกติเราไม่ได้มีอาชีพเป็นครู ไม่มีความรู้ในด้านการเรียนการสอนเพราะเราเรียนจบคณะสถาปัตยกรรม แต่เราก็ศึกษาแนวทางการสอนจากสื่อออนไลน์ และใช้เทคนิคการนำสิ่งที่ใกล้ตัวนักเรียนมาบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนสนใจเรียนมากขึ้น”


ครูบีพยายามสร้างการเรียนรู้โดยให้เด็ก ๆ ได้ลงมือทำ เพราะนั่นคือสิ่งที่จะสร้างความยั่งยืนในการใช้ชีวิตต่อไปในสังคม ผ่านการเล่น การลอง ให้เด็กได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ได้ทำ ได้เห็นปัญหา ได้เรียนรู้ และได้ฝึกแก้ปัญหา


“สิ่งที่ชอบมากที่สุดคือการสอน เพราะความรู้ไม่มีวันจบสิ้น เด็ก ๆ เอาไปต่อยอดเพิ่มขึ้นได้ ตอนเราขึ้นไปสอน เราจะพยายามหาคนที่มีความสามารถพิเศษ เช่น ครูสอนภาษาจีน ครูศิลปะ ช่างไฟฟ้า ไปช่วยกันสอนเพื่อให้เด็กได้ประโยชน์สูงสุด เด็กข้างบนไม่มีอินเทอร์เน็ต ครูก็ไม่พอ พอเราพาครูขึ้นไป เด็ก ๆ ก็ดีใจกันมาก”


การให้ที่ไม่รู้จบ คือ การให้ความรู้ เหมือนคำเปรียบเปรยที่ว่า มากกว่าการให้ปลา คือ การสอนให้รู้วิธีหาปลา

แม้ความขาดแคลนด้านเทคโนโลยีจะทำให้เด็กเหล่านี้ต่างจากเด็กในเมือง แต่ก็ช่วยให้เขาห่างไกลจากสิ่งยั่วยุไปด้วย เด็ก ๆ จึงมีสมาธิจดจ่อ มีความตั้งใจศึกษาเรียนรู้ สะท้อนให้เห็นว่าในความพร่องก็ยังมีความได้เปรียบที่สร้างแรงขับในตัวเด็กเหล่านี้ได้อย่างเต็มเปี่ยมจนก่อให้เกิดการเรียนรู้


สำหรับหัวใจสำคัญที่ครูบีใช้ในการสอน เธอจะคิดเสมอว่าตัวเองเป็นเด็ก คิดว่าเด็กต้องได้ความรู้และความสนุกไปด้วยกัน ต้องสร้างสรรค์บทเรียนที่เด็กยังไม่มีโอกาสได้ทำให้ได้ลองทำ เช่น การทำผ้ามัดย้อม และต้องพยายามเอาการเรียนกับการเล่นมารวมกัน คือ เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ และสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ด้วย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในวิถีชีวิตต่อไป


จากนักเดินทางที่ใช้สื่อออนไลน์บันทึกเรื่องราวเหมือนกับคนทั่วไป ผันตัวมาเป็นครูที่บันทึกเรื่องราวการแบ่งปันความรู้ สิ่งของ และโอกาสให้กับเด็ก ๆ บนดอย จากคนที่ใช้ชีวิตปกติธรรมดากลายเป็นบุคคลตัวอย่าง ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับทั้งคนทั่วไปและนักเดินทางด้วยกัน ปัจจุบันเพจการเดินทางของปารวี มีผู้ติดตามเกือบ 5 หมื่นคน ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่เธอทำก่อให้เกิดพลังแห่งการแบ่งปัน แปรเป็นความสุขจากการให้ที่ยั่งยืน

“ความรู้” ไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งที่ต้องรู้ แต่ความรู้คือคลังปัญญาที่มนุษย์ทุกคนใช้พัฒนาต่อยอดการดำเนินชีวิตของตนเองได้ไม่รู้จบ


การศึกษาไม่อาจจำกัดด้วยระยะทาง พลังการส่งต่อจากผู้ตั้งใจให้และรับโดยผู้ตั้งใจรับย่อมจะผลักดันให้ความรู้เป็นสิ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน



 

Parawee Mora | Facebook: parawee.journey

Education: The key to sustainably improving a way of life.


“To give continuously is to share knowledge. It’s like the saying, “Teaching people to fish is better than only giving fish.”


Parawee “Kru Bee” Mora is one of Thailand’s many “volunteer teachers” who bring educational opportunities to underprivileged children and innovate learning and teaching processes and technologies in remote areas. “Up on the hills, the children do not have much, not even toys or basic classroom amenities. Commuting from home to school and back is quite an adventure. As a volunteer teacher, I can, on my own efforts and liberty, bring toys and teach them proper lessons. I am not a formally educated teacher but instead an architect, but I teach myself using online media and integrate available resources to make teaching and learning more appealing.”


Kru Bee encourages learning by doing through experimenting, problem-solving, and real-life applications (e.g., by making handicrafts). While at it, she is also determined to create learning environment that is also fun. “I love teaching the most. Knowledge is endless, and these children can build on what they learn in class. We try to invite people with a range of expertise to maximize the benefits and happiness for the children, in addition to compensating for the lack of Internet access and the shortage of teaching staff.” This online travel vlogger turned volunteer teacher continues to share her stories and experience on her “Parawee.Journey” Facebook fan page, which has earned her more than fifty thousand followers. Kru Bee’s attempts to reduce of social inequity exemplify the power of giving and sharing in sustainable ways.



































34 views0 comments
bottom of page