top of page
  • Writer's pictureNIA 100 FACES

รักกี้ สุขประเสริฐ | พลังประชาชน ร่วมฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตรให้อยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

Updated: May 13, 2023




“รักกี้ สุขประเสริฐ” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลย่านยาว ผู้ก่อตั้ง ‘กลุ่มขุนศึกลูกพ่อปู่กอบกู้แม่น้ำพิจิตร’ หนึ่งในผู้นำชุมชนที่ยึดโยงวิถีชีวิตของผู้คนกับลุ่มน้ำสายสำคัญอย่าง “ลำน้ำพิจิตร” ที่เป็นทั้งอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นเส้นทางสัญจร แหล่งรวมวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมของคนพิจิตรมาอย่างยาวนาน ให้หวนกลับคืนมา หลังจากที่ครั้งหนึ่งสายน้ำแห่งชีวิตลำนี้เคย “ตาย” จากน้ำมือของผู้คน


“ผมเกิดที่ ตำบลย่านยาว จังหวัดพิจิตร ตั้งแต่จำความได้ก็เห็น แม่น้ำพิจิตรหมดสภาพ และต่อมาเมื่อได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน รู้ว่าชาวบ้านเดือดร้อน น้ำบาดาลสูบไม่ขึ้น จึงได้พยายามที่จะฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตรแห่งนี้ แต่ไม่มีใครร่วมด้วย ทั้งที่ความยาวถึง 127 กิโลเมตรไหลผ่าน 4 อำเภอ 32 หมู่บ้าน ถือเป็นเรื่องใหญ่มากของจังหวัด และจุดนี้เองที่ทำให้นิ่งเฉยไม่ได้จนเป็นแรงผลักดันให้ผมลุกขึ้นมากอบกู้แม่น้ำพิจิตรให้กลับคืนมา”


รักกี้ยังเล่าถึงปัญหาแม่น้ำพิจิตรที่เสื่อมสภาพ เป็นแม่น้ำตันที่ไม่สามารถไหลผ่านไปไหนได้ ทั้ง ๆ ที่สมัยบรรพบุรุษ รุ่นปู่ย่าตายายได้ใช้ทำการเกษตร ทำมาหากินหาบกล้วยลงเรือล่องแม่น้ำขายเป็นอาชีพเลี้ยงชีวิต เมื่อชาวบ้านมีความเดือดร้อนสูบน้ำไม่ขึ้น จึงต้องการที่จะกอบกู้แม่น้ำสายประวัติศาสตร์นี้กลับคืนมาให้ลูกหลานได้ใช้ต่อไป การสืบหาต้นตอของการทำให้แม่น้ำพิจิตรตันไม่เพียงแค่พบว่ามีโรงสีเทแกลบหินทรายและปูนลงแม่น้ำเท่านั้น แต่ “รักกี้” ยังพบอีกว่า มีอาคารกั้นน้ำระหว่างแม่น้ำน่านกับแม่น้ำพิจิตร จึงรวบรวมความกล้าปนกับใจที่เด็ดเดี่ยว ต้องการแก้ปัญหาให้สุดแม้ไม่รู้ว่าเสี่ยงกับข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการก็ตาม แต่ก็ตัดสินใจบุกเข้าไปดูในอาคารหลังนั้น จนพบว่ามีเครื่องปั่นไฟ แต่ใช้งานไม่ได้ จึงนำแบตเตอรี่และพาชาวบ้านมาช่วยกันซ่อมแซม สุดท้ายเครื่องปั่นไฟใช้งานได้ ทำให้สามารถเปิดปิดประตูระบายน้ำของทั้งแม่น้ำน่าน และแม่น้ำพิจิตรให้ไหลมาสู่กันได้


“ผมขี่มอเตอร์ไซค์ไล่ตรวจดูสภาพสีน้ำทุกวัน เพราะแม่น้ำพิจิตรมีบางช่วงที่วางท่อ และบางช่วงก็ยังไม่ได้วางท่อ จึงต้องมีการประสานนายอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอเปิดน้ำให้ไหลผ่านจากต้นแม่น้ำพิจิตรในตำบลย่านยาว ไหลลงไปสุดที่ตำบลบางคานใช้เวลาทั้งหมด 28 วัน ซึ่งการขี่มอเตอร์ไซด์เข้าไปตรวจสภาพน้ำทุกวัน ก็ได้มวลชนเข้ามาร่วมกันมากขึ้น ทำให้เห็นว่าพลังมวลชนคือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและก่อเกิดที่สำคัญ จนเกิดการตั้งกลุ่มโดยใช้ชื่อว่า ‘กลุ่มแม่น้ำพิจิตร’ แต่คนพิจิตรมีความเชื่อในหลวงพ่อปู่พญาโคตรตะบอง จึงได้ลงความเห็นตั้งชื่อกลุ่ม เครือข่ายภาคประชาชนนี้ว่า ‘กลุ่มขุนศึกลูกพ่อปู่กอบกู้แม่น้ำพิจิตร’ จากรุ่นแรกมีเพียง 9 คน ปัจจุบันมีถึง 300 คน ไม่ใช่แค่กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำพิจิตรเท่านั้น แต่ยังเป็นการรวมพลังของทุกกลุ่มทั้งเกษตรกร และกลุ่มด้านอื่น ๆ มาร่วมมือกัน”


ความยั่งยืนของชุมชน มาจากความเข้มแข็งของประชาชน

จากการฟื้นฟูลำน้ำพิจิตรไม่เพียงได้คลองต้นทุน ยังได้คลองข้อต่อสาขาของแม่น้ำพิจิตรเพิ่มอีกถึง 58 กิโลเมตร รวมถึงยังได้ขนบธรรมเนียมประเพณี แหล่งท่องเที่ยว มีการแข่งขันเรือยาว ลอยกระทง และมีวัดที่สำคัญในประวัติศาสตร์ที่แม่น้ำพิจิตรผ่านอยู่ทั้งหมดอีก 32 วัดกลับมาด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความยั่งยืนของชุมชนที่เกิดขึ้นได้นั้น มาจากพลังความร่วมมือที่เข้มแข็งไปในทิศทางเดียวกันของภาคประชาชนในการสร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อส่วนรวม และตั้งมั่นที่จะส่งต่อให้กับลูกหลานในรุ่นต่อไป


วันนี้กลุ่มขุนศึกฯ ก็ยังคงเดินหน้าร่วมกับทุกภาคส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกบริบท โดยเฉพาะสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนอนาคตของชาติในการปลูกฝังหยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์ลุ่มแม่น้ำพิจิตรที่ถูกบรรจุ ลงในหลักสูตรของโรงเรียนทั้ง 2 ฝั่ง เสมือนเป็นการบอกเล่าเรื่องราวความรัก ความผูกพัน และความหวงแหนตลอดจนถึงการธำรงรักษาลำน้ำแห่งนี้ให้ยังคงเป็นรากแก้วที่โอบอุ้มผู้คนในการดำรงชีวิตไปอีกนานแสนนานได้อย่างยั่งยืน


 

Rakkee Sukparsert | Yan Yao Subdistrict Administrative Organization, Phichit

People power for reviving Pichit rivers to nurture community


“Sustainability of the community lies in the people power.”


For some people, a leader means the head of a nation or a large organization. For communities; however, a leader is a person who brings about lasting “positive impacts.” This type of leader has the best interest of the community and its people at heart. He strives for sustainable changes that can be passed on to next generations. Rakkee Sukparsert, the Chief Executive of Yanyao SAO, is one such leader. Rakke founded “Warriors of the Pichit River” which focuses on restoring the main river of the community.


“I was born in Yanyao subdistrict, Pichit province. For as long as I can remember, the Pichit River was always been dull and contaminated although before that it had been the major source of agriculture and life for our ancestors”, Rakkee recalled. When he was the head of the village, he discovered that villagers could not pump groundwater. He dug deep to the cause of river damage and found some neglected truths. The river was heavily contaminated by heavy metals of rice husk ash and other materials from the nearby rice mill. He also discovered a water barrier between Nan River and Pichit River, preventing it from flowing. Without hesitation, Rakkee embarked on a journey to restoring the Pichit River with the help of both the locals and the authorities. Eventually, the Pichit was revived. Its restoration brought along with it abundance of life, long-forgotten traditions, tourism, etc.


Rakkee believes that through inclusion and cooperation, sustainable community can be attained.






147 views0 comments
bottom of page