ชาติพันธุ์เป็นส่วนสำคัญที่จำแนกคนแต่ละเชื้อสาย เป็นรากฐานของวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอคติความแตกต่างในสังคม ดังนั้นการเรียนรู้รากเหง้าของเราย่อมทุเลาปัญหาดังกล่าวได้ตั้งแต่ต้นเหตุ รศ. ดร.วิภู กุตะนันท์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้เชี่ยวชาญสาขาพันธุศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับงานมานุษยวิทยา เป็นผู้ชักชวนให้เราคิดผ่านองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาคำตอบว่า ‘คนไทยมาจากไหน ?’
นอกจากแววความถนัดในสาขาวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ยังเด็ก รศ. ดร.วิภู ยังมีความสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และสังคมศึกษา ซึ่งมักเริ่มต้นจากบทสนทนากับคุณปู่ที่มักเล่าพื้นเพของตนเองเสมอ ๆ ว่าเป็นคนไทยพิจิตร สิ่งนี้จุดประกายความสงสัยใคร่รู้ถึงที่มาที่ไปของคนไทย และความมุ่งมั่นศึกษาด้านชาติพันธุ์มานับแต่นั้น ความสามารถที่โดดเด่นส่งผลให้ อ.วิภูได้รับทุนจากโครงการ พสวท. สำหรับศึกษาต่อสาขาวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก และยังได้รับทุน Postdoctoral Appointment ในสถาบันวิจัยแมกซ์พลังก์ (Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology) สถาบันชั้นนำด้านมานุษยวิทยาพันธุศาสตร์ ที่ประเทศเยอรมนี
เส้นทางที่ อ.วิภูค้นหาคำตอบด้วยองค์ความรู้และความชำนาญในด้านพันธุกรรมมนุษย์ตั้งต้นในบริเวณภาคอีสาน โดยเสาะหารากเหง้าและลักษณะความสัมพันธ์ของดีเอ็นเอคนในพื้นที่ภาคอีสานหลากหลายกลุ่ม เช่น คนในแอ่งที่ราบสกลนครกับแอ่งโคราช คนในพื้นที่อีสานเหนือกับใต้ รวมถึงดีเอ็นเอที่จำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งอพยพมาจากเวียดนามตั้งแต่อดีต เช่น ภูไท ญ้อ แสก กะเลิง ฯลฯ การค้นหาคำตอบของคำถามนี้ทำให้ขอบเขตการศึกษากว้างไกลไปถึงชนเผ่าต่าง ๆ ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์บริเวณภาคเหนือ เช่น อาข่า ม้ง ลีซู ไทใหญ่ ลาหู่ จีน เมี่ยน ปกากะญอ คะฉิ่น และกลุ่มชาติพันธุ์บริเวณภาคใต้ เช่น มอแกน มันนิ
“คนไทยมีดีเอ็นเอที่แตกต่างกันตั้งแต่ระดับภูมิภาคจนถึงระดับประชากร ดินแดนแห่งนี้รวบรวมความหลากหลายของผู้คนที่อพยพย้ายถิ่นกันตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งก็ยังคงดำเนินสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในลักษณะการเคลื่อนย้ายของประชากรด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น สงคราม การทำงาน ฯลฯ การรู้ DNA ทำให้รู้รากเหง้าของเรา โดยเฉพาะประเด็นว่าคนไทยมาจากไหน เมื่ออธิบายความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยแต่ละกลุ่มได้ อคติด้านชาติพันธ์ุก็จะลดลง”
การสืบสาวรากเหง้าคนไทยจากการอพยพและพันธุกรรม ช่วยให้เข้าใจว่า เราเป็นใคร ซึ่งจะนำไปสู่การลดอคติต่อกัน
อ.วิภูอธิบายความแตกต่างของดีเอ็นเอคนไทยในแต่ละภูมิภาคเพิ่มเติมว่า ดีเอ็นเอของคนเมืองซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในภาคเหนือของไทยนั้นคล้ายคลึงกับของคนไตจากแคว้นสิบสองปันนาซึ่งอยู่ทางจีนตอนใต้ ส่วนดีเอ็นเอของคนอีสานเป็นการผสมผสานกันระหว่างกลุ่มประชากรมอญ-เขมรกับคนไตในสิบสองปันนา นอกจากนั้น ดีเอ็นเอของผู้ชายและผู้หญิงอีสานยังแตกต่างกัน โดยดีเอ็นเอของผู้หญิงจะเหมือนกับของคนไตในสิบสองปันนา ในขณะที่ผู้ชายมีดีเอ็นเอเหมือนคนมอญ-เขมร สิ่งนี้บ่งชี้รูปแบบและเหตุการณ์อพยพในอดีต ส่วนคนไทยภาคกลางและภาคใต้นั้นมีดีเอ็นเอที่เหมือนของชาวมอญและมีบางส่วนเหมือนกับชาวอินเดียตอนใต้ แสดงถึงพันธุกรรมที่ผสมผสานในแถบเอเชียใต้สู่ดินแดนสุวรรณภูมิ สะท้อนประวัติศาสตร์ในช่วง 600-700 ปีที่ผ่านมาซึ่งตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยารุ่งเรือง
การรู้จักที่มาของคนไทยโดยอาศัยหลักฐานทางพันธุกรรมเป็นแนวคิดใหม่ที่น่าเชื่อถือ ช่วยกำหนดบรรทัดฐานความรู้ใหม่เพื่อให้เราเข้าใจรากเหง้าของตนเอง และช่วยสร้างการรับรู้ในวงกว้างเพื่อลดอคติทางชาติพันธ์ุในสังคม
เมื่อสิ่งต่าง ๆ บนโลกใบนี้ถูกอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ ข้อเท็จจริงที่เกิดจากการพิสูจน์ด้วยกระบวนการตามหลักการและเหตุผลที่เหมาะสม นอกจากจะช่วยสร้างสังคมอุดมปัญญาแล้ว ยังก่อเกิดสังคมที่พร้อมเรียนรู้ความแตกต่าง เพื่อโอบรับทุกคนอย่างเท่าเทียม นำไปสู่สันติสุขอันยั่งยืน
Assoc. Prof. Dr.Wibhu Kutanan | Faculty of Science, Naresuan University
Solving the mystery of ‘where Thai people came from’ with research from DNAs
“Examining the ancestry and migration of Thai people through genetic intermixing helps understand who we are and reduce prejudice against one another.”
Ethnicity is key and foundational determinant of why people differ in terms of their ways of living and thinking, beliefs, and culture. However, this concept may fuel prejudice and social difference. A better understanding of our ancestry can help mitigate said problem. Assoc. Prof. Dr. Wibhu Kutanan, a genetics expert from Department of Biology, Faculty of Science, Naresuan University, is interested in linking his works to those in the anthropology field. He invites us on his scientific journey to answer “Where did Thai people come from?”
Wibhu’s interest and curiosity in the topic were inspired by his grandfather, who always told stories about his Thai Phichit lineage. Wibhu’s scientific proficiency led him to the persuasion of bachelor’s up to doctoral studies in the field, which were funded by the Development and Promotion of Science and Technology (DPST) Talents Project. He further earned the postdoctoral
appointment at Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology in Germany.
Wibhu’s quest started with the genetic analysis of various Thai people groups in several Northeastern Thai (Isan) plateaus: from Sakon Nakhon and Khorat, from Northern Isan to Southern Isan, and including the ethnic groups that had migrated from Vietnam. The study was further upscaled and covered Northern and Southern Thailand. From these studies, Dr. Wibhu was able to unpack the genetic diversity of the country and its regions due to historical and migration patterns. Such diversity predated most historical records and manifested in sociodemographic diversity that shaped our society to this day.
Comentarios