top of page
  • Writer's pictureNIA 100 FACES

สินี จักรธรานนท์ | “อโชก้า” เพาะเมล็ดพันธุ์เพื่อสังคมที่ยั่งยืน

Updated: May 30, 2021



องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรกับความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลง

เพื่อสังคมด้วยความเชื่อมั่นในนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ทางสังคม


“สินี จักรธรานนท์” อดีตนิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และปัญญาชนยุคเดือนตุลา คือหนึ่งในบรรดานักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมและสิ่งแวดล้อม การเติบโตขึ้นในยุคสมัยประชาธิปไตยเบ่งบานได้หล่อหลอมให้เธอตั้งคำถามกับตัวเองและสังคม ก่อนจะมุ่งมั่นทำงานภาคประชาชนด้วยหวังว่าจะสามารถใช้วิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมตอบแทนสังคมได้ในสักวันหนึ่ง


การที่สินีได้เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศยังทำให้เธอเห็นการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมในสหรัฐอเมริกา ได้ทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงทำงานเพื่อคนชายขอบเป็นเวลากว่า 20 ปี ในวันนี้ “สินี จักรธรานนท์” ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. องค์กรนี้ก่อตั้งในไทยเมื่อปี 2532 โดยมีภารกิจในการพัฒนาภาคประชาชนให้เข้มแข็งสร้างเครือข่ายเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างด้วยนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ทางสังคม เป็นผู้นำในการบุกเบิกแนวคิดเรื่อง Social Innovation (นวัตกรรมสังคม) และ Social Entrepreneur (ผู้ประกอบการสังคม)

“อโชก้าเป็นองค์กรนำด้านนวัตกรรมทางสังคมมาโดยตลอด ให้ความสนใจเรื่อง Social Entrepreneurship (การประกอบการทางสังคม) มาตั้งแต่ยุค ‘80s ผู้ก่อตั้งคือคุณบิล เดรย์ตัน เป็นปัญญาชนยุค ‘70s ที่สนใจสิ่งแวดล้อม เขามีวิสัยทัศน์และมีเป้าหมายทางสังคมที่ชัดเจน ตัวเราก็เป็นนักเคลื่อนไหว อยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลง เมื่อได้มาทำงานกับอโชก้า ความคิดของเราก็ถูกยกระดับไปอีกจุดหนึ่ง หยิบจับทรัพยากรรอบตัวมาสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมทางความคิด สร้างรูปแบบการแก้ปัญหาที่สามารถขยายผลได้ ในที่สุดก็เกิดพลังและความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในสังคม”


อโชก้าฝันเห็นโลกที่ทุกคนลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะเชื่อว่าทุกคนสามารถเป็นนักสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

อโชก้าได้ค้นหาและสนับสนุนคนที่เป็นผู้ประกอบการสังคม เน้นวิธีการแก้ปัญหาที่ไปกระทบโครงสร้าง คำนึงถึงความยั่งยืนในระยะยาว เช่น การผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาสัญชาติในทางกฎหมาย หรือ สิทธิแรงงานนอกระบบที่ไม่เป็นธรรม

“คนที่เราทำงานด้วยซึ่งเรียกว่า ‘ผู้ประกอบการทางสังคม’ คือคนที่ริเริ่มแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เรายังรวบรวมความเข้าใจเชิงลึก (insight) และถอดบทเรียนหลักการทำงานของพวกเขา เพื่อที่จะนำไปทำงานกับคนรุ่นใหม่ผ่านสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา เพื่อชี้ให้เห็นว่าโลกยุคปัจจุบันและอนาคตกำลังเกิดปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงและซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ”

“อโชก้าฝันเห็นโลกที่ทุกคนลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะเชื่อว่าทุกคนสามารถเป็นนักสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เราทำงานกับโรงเรียนตั้งแต่ไปค้นหาเด็กที่มีความสนใจอยากลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง เราเชื่อว่าคนที่เกิดมาเป็นผู้นำ ต้องได้รับการปลูกฝังและได้รับโอกาสที่เหมาะสม”

นวัตกรรมรูปแบบนี้ สินีมองว่าไม่ได้มีคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของโดยเด็ดขาดสมบูรณ์ เพราะผู้นำที่คิดค้นเองก็ย่อมได้รับแรงบันดาลใจและความรู้มาจากคนอื่น แม้จะสร้างนวัตกรรมที่จับต้องได้มาชิ้นหนึ่ง แต่กระบวนการที่จะนำพานวัตกรรมไปสร้างผลกระทบหรือความเปลี่ยนแปลงในสังคมนั้น ก็ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของคนจำนวนมากที่หลากหลายเมื่อลงมือทำ

“ยุคแรก ๆ คนคิดว่าบ้า แค่นำคำว่า ‘ผู้ประกอบการ’ กับ ‘สังคม’ มารวมกัน คนก็ตั้งคำถามแล้วว่าเป็นไปได้อย่างไร อโชก้าผ่านการพิสูจน์ลองผิดลองถูกจนโมเดลนิ่งมาถึงวันนี้เป็นเวลา 40 ปีแล้ว คนเริ่มประจักษ์ว่าเราสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้” และแม้สินีจะทำงานอยู่ในแวดวงนี้มานานกว่า 20 ปี แต่สิ่งที่เธอและอโชก้าทำนั้นไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในวงของคนรุ่นก่อนเท่านั้นเพราะเธอมองเห็นความหวังในตัวคนรุ่นใหม่ “สมัยก่อนการเคลื่อนไหวอะไรแบบนี้ คนอาจมองว่าเราเป็นแกะดำ เป็นพวกนอกคอก (หัวเราะ) ไม่คิดว่าจะกลายเป็นวิชาชีพได้ แต่ในปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าได้เรียนรู้จากคนรุ่นใหม่เยอะเหมือนกันค่ะ การเข้ามาของเทคโนโลยี การเข้าถึงการศึกษา ทำให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม พวกเขาอยากมีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมที่เขาอยู่”

ก่อนจะจบบทสนทนาในครั้งนี้ สายตามุ่งมั่นของเธอสอดคล้องกับประโยคที่กล่าวออกมา… “เมื่อเห็นความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แล้วเรามีความหวังค่ะ”


 

Ashoka and a Hope for Sustainable Society

Being one of the October’s scholars, Sinee Chakthranont found her root in social and environmental activism. Her passion brought her to the U.S., where she-alongside her study-witnessed humanitarian and equality movements, and gained a twenty-year experience working for the minority groups. She is now known as the chair of Ashoka (Thailand), the non-profit organisation founded in 1989. With the team of like minds, Ashoka deals with solving structural problems, navigating through sustainability challenges, and stimulating wider societal changes. The foundation pioneered the ideas of social innovation and entrepreneurship, which frame innovation as the result of participation and learning-by-doing rather than the possession by a specific individual. “At first, people found the idea of combining ‘entrepreneurship’ and ‘social’ bizarre. Through forty years of trials and errors, Ashoka has proven itself a success in creating significant changes.”, quoted Sinee. “Back in the day, people engaging in this kind of movement were viewed as black sheep and unorthodox. Making a living out of it was never taken seriously. As time went by, technologies improved. People gained more access to education. I have learned several things and become inspired by the younger generations, who are increasingly aware of social responsibilities and making changes to the society they live in. Witnessing change gives me hope.”


230 views0 comments
bottom of page