top of page
  • Writer's pictureNIA 100 FACES

สมโภชน์ ทับเจริญ | สามสิ่งที่เกษตรกรต้องมีคือความรัก ความรู้ และเงินทุน

Updated: May 30, 2021



อดีตนักวิชาการด้านสัตวบาล กับการผันบั้นปลายของชีวิตมาเป็นเกษตรกร เขาสร้าง “ฟาร์ม@บางขวด” แปลงนา สวนผัก กว่า 50 ไร่ใจกลางมหานคร ด้วยแนวคิด เกษตรเพื่อชีวิต


“สมโภชน์ ทับเจริญ” คืออดีตนักวิจัย นักวิชาการ และอาจารย์ด้านสัตวบาลที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์​ เขาเกษียณอายุราชการในวัย 54 ปีเพื่อผันตัวมาเป็นเกษตรกร และเป็นจุดเริ่มต้นของ “ฟาร์ม@บางขวด” แปลงนา สวนผัก ไร่ผลไม้กว่า 50 ไร่ ใจกลางมหานคร บนที่ดินมรดกมูลค่าสูงถึงไร่ละ 20 ล้านบาท หากตีเป็นตัวเลขกลม ๆ สวนเกษตรทั้งหมดของเขามีราคาถึง 1,000 ล้านบาท

27 ปีกับชีวิตข้าราชการในฐานะนักวิชาการด้านเกษตร สมโภชน์ได้พบพานภาพชีวิตที่ยากแค้นและถูกบีบรัดจากการเป็นเกษตรกรมากมายโดยเฉพาะจากระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) และการแก้ปัญหาของภาครัฐก็แต่เพียงหยิบยื่นเงินช่วยเหลือเฉพาะหน้าไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ขุดลึกไปที่รากของปัญหาและสร้างระบบในการแก้ไขอย่างต่อเนื่องที่แท้จริง แม้ว่าจะสร้างระบบที่ดีได้แต่ในที่สุดก็ลมหายตายจากไปจนหมด เพราะมีผลประโยชน์เข้าไปแทรกแซงเสมอ

“เดิมทีบริษัทต่าง ๆ เป็นผู้ขายปัจจัยการผลิตโดยมีพ่อค้าคนกลางไปรับซื้อผลผลิตแล้วส่งต่อให้ปลายน้ำหรือผู้แปรรูปผลผลิตก่อนออกสู่ตลาด แต่วันนี้บริษัทเอกชนเขาก็รู้ว่าทั้งต้นน้ำและปลายน้ำมันคือเงิน คือกำไร แต่กลางน้ำหรือกระบวนการผลิตนั้นมันคือการลงทุน เขาก็เลยเอาเกษตรกรผู้ยากไร้ที่มีปัญหามากมายรุมเร้ามาเป็นผู้ผลิต มาอยู่ตรงกลางน้ำ เดี๋ยวบริษัทเขาจะคุมต้นน้ำและปลายน้ำเอง”

สภาพเช่นนั้น ทำให้หลังเกษียณ สมโภชน์เลือกกลับมาเป็นเกษตรกรโดยวิถีของตน เขาบุกเบิกวางแปลน ปรับปรุงดิน ปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อเตรียมการ ทว่าอุปสรรคสำคัญที่เขาพบคือปัญหาของ “น้ำ”


“สำคัญที่สุดในการทำเกษตรคือน้ำ แต่การบริหารน้ำในกรุงเทพฯ นั้นแย่มาก ทั้ง ๆ ที่เรามีน้ำดีมากมาย ให้คนเมืองหลวงใช้ แต่พอใช้เสร็จก็เปลี่ยนเป็นน้ำเสีย โดยไม่ได้รับการบำบัดเลย”


หัวใจของเกษตรคือ หนึ่ง ความรักที่จะดิ้นรนจนสำเร็จ สอง ความรู้ ไม่เช่นนั้นลงทุนไปก็ผิดหวัง  สาม ทุน หากคุณต้องไปกู้เงินมา คุณจะเหลืออะไร?

“แต่มองในมุมกลับ น้ำที่เน่าและไม่ผ่านการบำบัดนี้คือแทงก์ของปุ๋ยหมักตามธรรมชาติขนาดใหญ่ มีทั้งธาตุอาหารจากสิ่งปฏิกูลมากมาย ทุกอย่างถูกหมักไว้ในคลองแล้ว เราเพียงเอาน้ำเน่าที่มีแร่ธาตุมากมายมาผ่านกระบวนการกรอง สูบน้ำขึ้นมาแล้วใช้พืชน้ำดูดไนเตรตและไนไตรต์ ดูดเอาสิ่งที่พืชต้องการออกไป เพราะรากของพืชสามารถกักตะกอนไว้ได้ น้ำที่ผ่านกระบวนการนั้นจึงเป็นกลายเป็นน้ำดี”


สมโภชน์ใช้ทั้งภูมิปัญญาเกษตรพื้นบ้านผสานกับวิทยาการอันเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อทำการเกษตรด้วยเเนวคิด Farm to Table จากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร ด้วยความเชื่อว่า เมื่อเขาสามารถพาตัวเองให้รอดได้เมื่อใด เมื่อนั้นจึงจะส่งต่อความรู้และประสบการณ์สู่สังคม


“หลายคนพยายามจะมาขอให้ที่นี่เป็น Knowledge Center เป็นแหล่งเรียนรู้ ผมตอบไปว่า ‘ผมเป็นไม่ได้หรอก’ เพราะแหล่งเรียนรู้โดยวิธีคิดของรัฐนั้น มันทำมาเพื่อโชว์ เพื่อประเมินผลกับงบประมาณที่คุณอยากจะได้มา คุณไม่ได้ต้องการให้คนเขามาเรียนรู้และใช้ประโยชน์ได้อย่างจริงจังหรอก แล้ววันหนึ่งเมื่อไม่มีงบประมาณตกมา คุณก็ปิดมัน เลิกมัน แล้วจะมีประโยชน์อะไร”


นอกเหนือจากงานในร่องนาไร่สวน ขายสินค้าเกษตร และทำร้านอาหารโดยใช้วัตถุดิบจากฟาร์ม เขาใช้เวลาที่เหลือไปกับการถ่ายทอดแนวคิด ความรู้ และกระบวนการ ให้กับผู้คนมากหน้าหลายตา ทั้งนักศึกษา เกษตรกร หรือมนุษย์วัยเกษียณที่อยากใช้บั้นปลายกับการทำการเกษตร ผ่านเรื่องเล่าและการปฏิบัติจริงโดยใช้สวนและประสบการณ์ของเขาเป็นพื้นที่ศึกษา โดยมีข้อแม้ว่า เขาเหล่านั้นต้องพกพา “ความรัก” และความ “อยากรู้” ติดตัวมาด้วยเท่านั้น


“วิธีการส่งต่อความรู้ของผมจะไม่ใช่การขายคอร์ส หรือสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ตามโมเดลของรัฐ  เพราะบรรยายให้ตายเขาก็ไม่ได้อะไร แต่เราอยู่ในสวนของเรา ใครอยากได้อะไร อยากรู้อะไร มาเลย ผมจะเล่าให้ฟัง จะพาไปดู ผมจะไม่เหนื่อยฟรีเพราะถ้าเขาไม่อยากได้ความรู้ เขาคงไม่ดั้นด้นมาหรอก เราจึงมีความยินดีอย่างมากในการจะคุยกับเขาอยากเต็มปากเต็มใจ”


 

An Agriculturist for Life: Cultivation with Love and Curiosity

Sompoch Tubcharoen was once a researcher, an academic, and a lecturer of animal nourishing at Kasetsart University. He retired at the age of 54 to become a farmer and that was the start of Farm@Bangkhuat. The farm located in the city covers more than 50 rai. Over two decades of being an academic in agriculture, Sompoch suffered a lot from contract farming and from the government’s mismanagement. Once retired, Sompoch learnt that the main problem of doing agriculture is water, which is the main factor for agriculture. “In Bangkok, there’re tons of fresh water for people to use, but the management is poor. Besides, we can utilize wastewater as fertilizer for plants.” Sompoch has created the idea of ‘Farm to Table’, deriving from the belief that we should pass on the knowledge to society. Therefore, he educates students, farmers and retired people who are interested in doing agriculture by using his farmland as an institution. “My focus is on telling stories about people’s interests rather than giving a lecture. I provide an opportunity for people who would like to gain more knowledge about agriculture to come to my farm.”

823 views0 comments
bottom of page