top of page
  • Writer's pictureNIA 100 FACES

ดร.ธัญญพร วงศ์เนตร | สร้างชุมชนแข็งแกร่งด้วยวิทยาศาสตร์ชีวภาพ

Updated: Jun 19, 2021



ด้วยพลังแห่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ช่วยแปรเปลี่ยนขยะที่ทุกคนมองข้ามให้มีมูลค่า และเสริมชุมชนให้แข็งแกร่ง


“ดร.ธัญญพร วงศ์เนตร” นักวิจัยจากสถาบันวิทยสิริเมธี คือหนึ่งในนักวิจัยที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการนำวิชาความรู้มาประยุกต์ใช้กับชุมชนเพื่อช่วยแก้ปัญหาขยะ เธอคือผู้ได้รับทุนโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2562 จากหัวข้อ “การวิจัยค้นหาหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้เป็นสารมูลค่าเพิ่มเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

ธัญญพรหลงใหลในวิทยาศาสตร์ และซึมซับความรู้จากคุณพ่อซึ่งเป็นนักฟิสิกส์และฝึกฝนกระบวนการคิดตามหลักเหตุและผลมาตั้งแต่วัยเด็กเมื่อโตขึ้นมีโอกาสเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เธอเลือกสอบเข้าศึกษาต่อที่คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนจะเปลี่ยนมาเรียนภาควิชาชีวเคมีในระดับปริญญาโท-เอก เมื่อเดินทางไปศึกษาวิจัยที่สหรัฐอเมริกา เธอตั้งใจต่อยอดโพรเจกต์วิทยาศาสตร์เพื่อนำกลับมาช่วยแก้ปัญหาให้ประเทศไทย โดยขณะนั้นสนใจเรื่องปัญหาการจัดการขยะ จึงเลือกวิจัยเรื่องเอนไซม์ที่จะเปลี่ยนขยะให้เป็นแก๊สมีเทนซึ่งเป็นแก๊สที่มีมูลค่าและยังช่วยจัดการขยะในชุมชนได้

“ปัญหาขยะนั้นเชื่อมโยงกับทุกอย่างค่ะรวมไปถึงด้านสาธารณสุขและคุณภาพชีวิต วิธีจัดการขยะในประเทศไทยนั้นจัดการอย่างถูกต้องเพียง 5% ค่ะ แบ่งออกเป็น 2 เรื่อง ได้แก่ ‘การฝังกลบ’ เดิมทีรัฐบาลเคยคาดการณ์ไว้ว่าโรงฝังกลบขยะจะใช้ได้ถึง 20 ปี แต่ตอนนี้ผ่านไป 10 ปีก็เต็มแล้วค่ะ อีกอย่างคือสถานที่ฝังกลบก็เริ่มขยับเข้าใกล้แหล่งชุมชนมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต เช่น ขยะเริ่มส่งกลิ่นเหม็น ส่วนเรื่องต่อมาคือ ‘ปัญหา PM2.5’ ที่ส่งผลกระทบอยู่ในขณะนี้ก็มาจากการเผาขยะ เห็นได้ว่าปัญหาเล็ก ๆ นั้นสามารถเชื่อมโยงไปยังปัญหาอื่น ๆ ได้เยอะมาก”


ปัญหาขยะนั้นเชื่อมโยงกับทุกอย่าง รวมไปถึงด้านสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ วิธีจัดการขยะในประเทศไทยนั้นจัดการอย่างถูกต้องเพียง 5% ที่เหลืออีก 95% นั้นจัดการผิดวิธี

แน่นอนว่าคนคนเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ธัญญพรจึงริเริ่มรวมกลุ่มวิจัยโครงการขยะ โดยมีแนวคิดว่าหากเราจูงใจคนทั้งประเทศให้คัดแยกขยะได้ ก็จะสามารถสร้าง Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่นำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้ชาวบ้านนำขยะออร์แกนิกมาให้หลังจากนั้นทีมวิจัยจะเปลี่ยนเป็นรายได้เงินมอบกลับคืนสู่ชุมชน สร้างชุมชนตัวอย่างด้าน Zero Waste ปัจจุบันทีมวิจัยนำขยะมาผลิตสารมูลค่าเพิ่มได้ถึง 5-6 ชนิด เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ส่วนที่นำมาใช้จริงแล้วคือไบโอแก๊ส

“จุดยืนของเราไม่ใช่การเข้าไปจัดการชุมชนแต่เรานำวิทยาศาสตร์เข้าไปช่วยสำหรับชุมชนที่เราลงพื้นที่คือ พื้นที่เทศบาลจังหวัดน่าน เพราะชุมชนที่นั่นแข็งแกร่ง ผู้นำชุมชนเข้มแข็ง เราทดลองในชุมชน วัด และโรงเรียน โดยจัดการขยะวันละ 15 กิโลกรัม ทำมาแล้ว 1 ปีเท่ากับมีขยะที่จัดการไปแล้วประมาณ 5,000 กิโลกรัม ขยะรีเทิร์น กลับมาในรูปแบบแก๊ส ปุ๋ยชีวภาพคุณภาพสูงเพื่อแจกจ่ายในชุมชน นอกจากทำให้สุขอนามัยชุมชนดีขึ้นแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้ในครัวเรือนอีกด้วย”

หากชุมชนใดทำแล้วสำเร็จก็สามารถเป็นโมเดลเรื่องการจัดการขยะขยายไปยังชุมชนอื่น ๆ ได้ซึ่งทางทีมวิจัยเองได้จัดเวิร์กชอปให้ความรู้แก่ชาวบ้านและนักเรียน เปิดนิทรรศการให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนมุมมอง โดยหวังว่าการเปลี่ยนขยะมูลฝอยให้กลายเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและสารชีวภัณฑ์มูลค่าเพิ่มที่มีคุณภาพสูงขึ้น จะมอบพลังงานสะอาดกลับคืนสู่ชุมชน และเป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือกได้ในอนาคตได้

“เราบอกกับลูกศิษย์ตลอดค่ะ ว่างานนี้เป็นงานที่เหนื่อยและต้องลงพื้นที่ชุมชน ไปอยู่นานเป็นสัปดาห์ แต่เรารู้ดีว่าเป้าหมายของเราคืออะไร สุดท้ายเราอยากเห็นอะไร เรามีแพสชันกับงานวิจัยที่ใจรักและยังคงทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง หวังว่าสิ่งที่ทำจะช่วยยกระดับให้คนที่อยู่ในระดับเศรษฐกิจฐานล่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างน้อยเราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กลไกตรงนี้ดีขึ้น”


 

A Biological Scientist Who Turns Waste into Wealth

Dr. Thanyaporn Wongnate found her upbringing and passion in science. She took part in Junior Science Talent Project (JSTP), which inspired her to pursue her studies in Chemistry and Biochemistry at Mahidol University, Thailand. She travelled to the U.S. to continue her research project on waste management. “In Thailand, most of the waste ends up in landfills. These landfills are running out of their capacities and, as a result, getting closer to urban areas, where liveability is ruined. Incineration is not a desirable option either because it fumes PM 2.5, which recently terrorised major cities.” Currently a researcher at Vidyasirimedhi Institute of Science and Technology (VISTEC), she initiated a research group that is targeted at waste management projects, circular economy, and zero-waste communities. “Our role is to help the communities with science. Within one year, we successfully used the enzyme to convert around 5 tonnes of waste from one community into cooking gas and high-quality manure. Dedication is required for the job, but our goal is clear: We thrive to be a part in raising the quality of life from the bottom up.” In 2019, Dr. Thanyaporn was honoured with L’Oréal Thailand “For Women in Science” Fellowship for her work that demonstrated a valued contribution to sustainable development.

66 views0 comments
bottom of page