สถาปนิกชุมชนหญิง ผู้เปลี่ยนชุมชนแออัดให้เข้มแข็งด้วยงานดีไซน์ จนขยายผลสู่การออกแบบที่อยู่อาศัยของทุกชนชั้นผ่านหลักคิดการมีส่วนร่วม
“ตอนเรียนทฤษฏี People Participation เราไม่เคยเข้าใจว่าการมีส่วนร่วมของคนมีความสำคัญอย่างไร จะมีส่วนร่วมทำไม แต่พอลงพื้นที่ทำงานกับชุมชนครั้งแรก มันตอบข้อสงสัยทันที”
“ปฐมา หรุ่นรักวิทย์” สถาปนิกชุมชน กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอก่อตั้ง CASE Studio (Community Architects for Shelter and Environment) สตูดิโอที่ออกแบบบ้าน พัฒนาชุมชนและช่วยเหลือด้านที่อยู่แก่ผู้ประสบภัยพิบัติมากว่า 20 ปี
“ปี 2539 หลังจากได้รับคำชวนจาก “สมสุข บุญญะบัญชา” (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชียในประเทศไทย) ให้มาร่วมพัฒนาด้วยกัน เราจึงเลือกลงพื้นที่พัฒนาชุมชนบ้านบ่อหว้า จังหวัดสงขลา เพื่อทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท จุดนั้นเองที่ได้เข้าใจความหมายของ กระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Design)” ปฐมาเล่าถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในฐานะสถาปนิกชุมชน
เธอเล่าถึงความสำเร็จของโครงการนี้ว่า มันคือการที่ทุกคนในชุมชนตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่สามารถตอบได้อย่างฉะฉานว่าโครงการนี้ทำอะไรบ้าง ซึ่งเกิดจากกระบวนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการ กระทั่งต่อมาเกิดกระแสปากต่อปากไปยังชุมชนแออัดอื่น ๆ ที่อยากยกระดับที่อยู่อาศัยด้วยเช่นกัน “หัวใจการออกแบบที่อยู่อาศัย คือการมีส่วนร่วม คนที่รู้ดีที่สุดว่าปัญหาอยู่ตรงไหนคือคนที่อาศัยอยู่ที่นั่น บางครั้งเราอาจมองว่าต้องรื้อสร้างใหม่ ทว่าความเป็นจริง ปัญหาที่ชุมชนอยากแก้อาจเป็นเรื่องอื่น”
หัวใจการออกแบบที่อยู่อาศัย คือการมีส่วนร่วม บางครั้งเราอาจมองว่าต้องรื้อสร้างใหม่ ทว่าความเป็นจริง ปัญหาที่ชุมชนอยากแก้อาจเป็นเรื่องอื่น
ปฐมามองว่างานด้านสถาปัตย์ไม่ใช่เรื่องความฟุ่มเฟือย “เราพยายามเริ่มงานจากการที่ว่าอย่าไปคิดเรื่องเงิน ยิ่งคุยงานกับชาวบ้าน หรือบรีฟงานเด็กฝึกงาน เราบอกว่ามีงบเป็นศูนย์ โจทย์คือจะทำอย่างไรเพื่อพัฒนาโพรเจกต์นั้นให้ดีที่สุด”
แนวคิด “งบศูนย์บาท” คือกระบวนการที่เธอใช้ตั้งต้นเพื่อขยายขอบเขตการคิดให้อยู่เหนือจากงบประมาณและมองหาความเป็นไปได้ และความคุ้มค่าที่สุด ดังนั้น ทุกครั้งในกระบวนการการทำงานกับชุมชนเธอและทีมงานจะต้องเริ่มตั้งแต่การศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Studies) ดีไซน์ตั้งแต่กระบวนการก่อนที่จะดีไซน์งานด้านสถาปัตย์ เมื่อเป็นเช่นนี้งานออกแบบของเธอจึงหนีไม่พ้นการมีส่วนร่วม ปฐมามองว่างานออกแบบที่ดีไม่ใช่งานที่สวย ทว่างานนั้นต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในทุก ๆ ด้านด้วยเช่นกัน
ช่วงแรกงานของ CASE Studio ส่วนใหญ่เน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัดทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็น ชุมชนเก้าเส้ง จ.สงขลา ชุมชนสันติธรรม จ.เชียงใหม่ ชุมชนป้อมมหากาฬ และชุมชนใต้สะพานในกรุงเทพฯ และอื่น ๆ อีกมากมาย ก่อนที่จะพบว่า จริง ๆ แล้วคนชั้นกลางเองก็มีปัญหาที่อยู่อาศัยไม่ต่างกัน เธอและทีมเริ่มขยายการทำงานเพิ่มขึ้น กระโดดลงไปเล่นกับชั้นกลาง เกิดโครงการบ้าน TEN (Ten House) ในปี 2549 โครงการทดลองออกแบบบ้านทาวน์เฮาส์ 10 ยูนิต ตอบสนองต่อความต้องการของเจ้าของแต่ละคนในพื้นที่แตกต่างกัน โดยมีพื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน ต่อมากลายเป็นต้นแบบการพัฒนาที่ได้รับความสนใจจากสื่อทั้งในและต่างประเทศ
ปฐมาได้รับรางวัลศิลปินดีเด่นศิลปาธร ประจำปี 2553 สาขาสถาปัตยกรรม รวมไปถึงรางวัลสถาปนิกรุ่นใหม่ที่มีผลงานเด่นของสมาคมสถาปนิกสยาม และอื่น ๆ อีกมากมายเธอทิ้งท้ายว่า เสาหลักสำคัญที่ทำให้ CASE Studio ยังคงทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนต่อไปคือ ความซื่อสัตย์ และความอดทนที่ต้องค่อย ๆ รับฟังปัญหาจากทุกฝ่าย เพื่อหาจุดร่วมมาดีไซน์ที่ตอบโจทย์พร้อมกับสร้างความยั่งยืนในการพัฒนา สองเสาหลักนี้เองที่เธออยากฝากให้สถาปนิกรุ่นต่อ ๆ ไป
A People’s Architect with Her Theory
In the past, we never understood how important human participation was. But when I had the first chance to work with the community, we could see everything through immediately.” Patama Roonrakwit said. “Sometimes, when we look at the housing in the community, we may think that it needs to be rebuilt. But sometimes the problem that the community wants to solve may be another matter.” She believed that the success of the project was to make people understand the project’s objectives. Patama sees that architecture work is not a matter of luxury. Therefore, money is not the key to this project, but it is a way to expand your thinking beyond budget and look for possibilities. This is the reason why she and her team had to start with feasibility studies design from the process before designing an architecture job. Pathama received the Outstanding Artist Award, Silpathorn 2010 in Architecture. She thinks the essence of this work from CASE STUDIO is honesty and tolerance for community development. They are always pleased to listen to problems from all parties to find mutual agreement. These two pillars are important for this kind of work and she would like to pass on this knowledge to the next generation of architects.
Comments