top of page
Writer's pictureNIA 100 FACES

รัฐศรัณย์ พีรพงศ์เดชา | จากเปลือกกาแฟสู่คราฟต์โซดาเงินล้าน

Updated: Aug 22, 2021




ชายหนุ่มผู้เปลี่ยนเปลือกกาแฟเหลือใช้ให้กลายเป็น “Castown” แบรนด์เครื่องดื่มโซดาคราฟต์ที่ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้เกษตรกรท้องถิ่น


เมื่อ “บอม - รัฐศรัณย์ พีรพงศ์เดชา” เดินทางไปเที่ยวบนดอย ต.เทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่แล้วเห็นกองขยะเปลือกกาแฟที่ส่งกลิ่นเหม็น ด้วยความที่เป็นคนขี้สงสัย เขาจึงค้นหาข้อมูลว่าเปลือกกาแฟเหล่านี้ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง และได้ค้นพบว่าสามารถแปรรูปเป็นเครื่องดื่มได้ เขาจึงนำข้อมูลไปแจ้งเกษตรกรในพื้นที่ “ถือเป็นเรื่องยากที่ต้องต่อสู้กับความคิดที่เขาไม่เคยนำเปลือกกาแฟมากิน ทุกคนบอกว่ามันคือขยะ ไม่มีใครเชื่อ ผมต้องไปแอบบอกน้อง ๆ วัยรุ่นบนดอยว่าช่วยเถอะ มันกินได้ (หัวเราะ)”

หลังจากลองนำเปลือกกาแฟไปตากแห้งรัฐศรัณย์ได้นำตัวอย่างกลับมาทดลองทำเครื่องดื่ม โดยก่อนหน้านี้เขาเคยเปิดร้านกาแฟเล็ก ๆ แต่เมื่อคิดว่าการผลิตเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็อาจติดปัญหาเรื่องกฎหมายและเฉพาะกลุ่มเกินไป จึงปรึกษากับพาร์ตเนอร์ “เติ้ง-พนัญไชยกล่ำกล่อมจิตต์” ว่าอยากแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ทุกคนสามารถดื่มได้ และเหมาะกับเมืองร้อนอย่างประเทศไทย เกิดเป็นเครื่องดื่ม ประเภทสปาร์กกลิ้งหรือคราฟต์โซดา แถมยังดีต่อสุขภาพด้วยเพราะเป็นเครื่องดื่มที่มีเชื้อจุลินทรีย์ช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น

จากทำเพื่อส่งไปขายที่กรุงเทพฯ และส่งเข้าประกวดในงานประกวดนวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเเละอาหาร ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เครื่องดื่มน้ำซ่าจากเปลือกกาแฟของเขาก็คว้ารางวัลอันดับ 1 ของประเทศ เขาไม่รอช้ารีบกลับไปชวนเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมแปรรูปเปลือกกาแฟเป็นคราฟต์โซดาด้วยกัน “ฐานคือกลุ่มเกษตรกร เพราะฉะนั้นเกษตรกรต้องมีชีวิตที่ดีที่สุด ในกระบวนการของธุรกิจนี้ ผมวางธุรกิจของผมว่าเจ๊งได้ ไม่เป็นไร ผมอยากลอง” เขาเล่า “ผมอยากให้สิ่งที่จะทำกันมันยั่งยืนไปสู่ลูกหลานไม่ใช่เเค่ลองเเล้วก็หายไป เราจะลองเดินตามสิ่งที่เรียกว่า ‘ความยั่งยืน’ ปัจจุบันคนมุ่งไปที่กระบวนการอุตสาหกรรมเสียเยอะ จนหลงลืมความเป็นหัตถกรรม หรืองานคราฟต์และงานฝีมือ ซึ่งมันมีคุณค่า”


ฐานคือกลุ่มเกษตรกร เพราะฉะนั้นเกษตรกรต้องมีชีวิตที่ดีที่สุดในกระบวนการของธุรกิจนี้

ด้วยเหตุนี้ แบรนด์ “Castown” จึงถือกำเนิดขึ้นโดยย่อมาจาก “Cascara is coming to town” (Cascara คือเครื่องดื่มที่ช่วยให้รู้สึกสดชื่น) และได้ “เติ้ง - พนัญไชย” ที่กำลังเปิดบริษัทโฆษณาเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการสร้างแบรนด์ให้คนรู้จักมากยิ่งขึ้น Castown ก็ไม่ใช่แค่บริษัทจำหน่ายเครื่องดื่ม แต่แปรรูปเปลือกกาแฟเพื่อให้เปลือกกาแฟถูกใช้มากที่สุด โดยตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาพวกเขาเรียนรู้และค้นคว้าในการทดลองทำโพรดักต์อื่น ๆ ด้วยเปลือกกาแฟมากมาย เช่น ผลิตเป็นแป้ง ไซรัป แก้วกระดาษ ฯลฯ


แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของกระบวนการนี้คือการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าทางการเกษตรทุกอย่าง มีการเปิดเวิร์กชอปสอนเกษตรกรและผู้สนใจไปมากกว่า 3,000 คนแล้ว นอกจากนี้ยังมีการจัดงาน Craft Soda Day เพื่อเป็นการรวมตัวกันของคนที่ชอบคราฟต์ นำมาแลกเปลี่ยนกันชิม อย่างน้อยเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจว่าทุกท้องถิ่นสามารถผลิตเครื่องดื่มของตัวเองได้ “ผมพยายามศึกษาว่าลูกค้าอยากได้อะไร ทำให้เรามีการต่อยอดโพรดักต์ใหม่ ๆ ออกมาเรื่อย ๆ ปัจจุบันมีถึง 38 รสชาติ ตอนนี้เริ่มมาเล่นเรื่องใบชาแล้ว ผมก็เลยลองทำชามะนาวสปาร์กกลิ้ง หรือจำพวกสมุนไพรดูด้วย” ปัจจุบันนี้ Castown สั่งวัตถุดิบธรรมชาติเหลือทิ้งจากเกษตรกรไทยปีละประมาณ 30-50 ตัน ต.เทพเสด็จ ไม่มีขยะเปลือกกาแฟส่งกลิ่นเหม็นแล้วเพราะทุกบ้านตากเปลือกกาแฟเรียงกันสวยงามนอกจากนี้ Castown ยังเลือกที่จะทำงานแบบหัตถกรรม ทุกงานใช้มือทำ เพื่อเสริมสร้างอาชีพให้เกษตรกร “ผมไม่ได้อยากล้างสมองหรือบอกให้ทุกคนมาทำธุรกิจแบบนี้ แต่ให้ดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแทน บริษัทผมจ้างงานโดยให้ค่าตอบแทนสูงกว่าที่อื่น 40% พวกเขามีอาชีพ นำเงินไปเลี้ยงดูครอบครัวได้มากขึ้น การทำธุรกิจเป็นเรื่องที่ควรจะต้องคิดถึงเรื่องผลกำไรแต่ก็อย่าให้มันมาเป็นแกนหลักของการดำเนินธุรกิจ ทุกคนต้องแบ่งปันกัน”


 

Castown: From Coffee Peels to Craft Soda

Ratsaran Peerapongdecha is an entrepreneur who turned a pile of stinky coffee peel into something incredible. His business life started when he visited a mountain in the north and learned that a pile of coffee peel could be transformed into a drink, and it would lead to an opportunity to run a business. As alcohol drinks are not for everyone, Ratsaran turned to sparkling drinks and began his craft soda which is not only refreshing but also healthy. After the launch of his product, he attended an innovation contest for agricultural and food product development, and he finally won the first prize with his coffee-peel sparkling drink. Moreover, Ratsaran’s company turns tons of coffee peel into products such as syrup, paper cups, and many more. The company also offers workshops for farmers and anyone interested in adding value to agricultural products and has thus far welcomed over 3,000 participants. Ratsaran concluded that he has never wanted to brainwash anyone to run the same business. Nevertheless, the pay is worth the investment. Ultimately, even though the benefits or profits are regarded most important, he encourages everyone in a community to share and help one another.


379 views0 comments

Comments


bottom of page