top of page
  • Writer's pictureNIA 100 FACES

ดร.สมศักดิ์ ชลาชล | ช่างผมผู้เปลี่ยนทรงให้วงการซาลอนไทย

Updated: Jun 19, 2021



จากลูกจ้างร้านทำผม สู่เจ้าของแบรนด์ ‘ชลาชล’ ผู้ยกระดับมาตรฐานร้านเสริมสวยในเมืองไทย


หากพูดถึงร้านทำผมในเมืองไทย ทุกคนต้องรู้จัก “ชลาชล” ร้านทำผมชื่อดังที่เปิดให้บริการจำนวน 17 สาขาทั่วประเทศ มีพนักงานในสังกัดกว่า 300 คน ผู้ก่อตั้งคือ “ดร.สมศักดิ์ ชลาชล” ช่างทำผมระดับด็อกเตอร์ที่นำองค์ความรู้เรื่อง “Salon Business Management” มาใช้พัฒนาและยกระดับวิชาชีพช่างตัดผมในเมืองไทยให้เป็นที่ยอมรับในสังคม


ย้อนไปเมื่อราว 40 ปีก่อน จากอดีตลูกค้าประจำของร้านทำผมแห่งหนึ่งรู้เพียงแค่เป็นคนสำอางและชื่นชอบความบันเทิง จนกระทั่งวันหนึ่งทางร้านทำผมที่เขาเข้าประจำแจ้งว่าจะเซ้งร้าน สมศักดิ์ในวันนั้นได้ตัดสินใจรับเซ้ง แต่จุดเริ่มต้นธุรกิจของสมศักดิ์เริ่มจากการทำงานเป็นลูกจ้างในร้านทำผมก่อน เรียนรู้และเก็บสะสมประสบการณ์นานถึง 8 ปี หลังจากนั้นได้เปิดร้านทำผม “ชลาชล” โดยเป็นร้านแรก ๆ ในทองหล่อ 


ตอนนั้นช่างทำผมเมืองนอกได้รับการยอมรับในสังคม เพราะเขามีมาตรฐานวิชาชีพ เราเลยตั้งใจว่าวันหนึ่งจะต้องพัฒนามาตรฐานวงการช่างผมในบ้านเราให้ได้”


ในสมัยก่อน ช่างทำผมเมืองนอกได้รับการยอมรับในสังคม และมีมาตรฐานวิชาชีพ เราเลยตั้งใจว่าจะต้องพัฒนามาตรฐานวงการช่างทำผมในบ้านเราให้ได้

สมศักดิ์มองว่าร้านทำผมของตัวเองเป็น Emotional Product ตอนเริ่มทำก็ทำธุรกิจแบบ ไม่มีทฤษฎีอะไรทั้งสิ้น แต่เมื่อเรียนจบอนุปริญญาวิทยาลัยครู มีอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงท่านหนึ่ง สนับสนุนให้เรียนต่อ ประกอบกับโดยส่วนตัวสมศักดิ์ก็โหยหาการศึกษา จึงตัดสินใจเรียนรัฐศาสตร์ภาคพิเศษที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเศรษฐศาสตร์การเมืองที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย 


“ผมทำธีสิสเรื่อง ‘เศรษฐศาสตร์การเมืองกับธุรกิจทำผม’ สนุกมาก เหมือนเรามีทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ทำให้เราพัฒนาและเกิดไอเดียใหม่เรื่อย ๆ พอเรียนจบที่จุฬาฯ ก็ยังอยากเรียนอีก จึงไปเรียนปริญญาเอก ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง” 


จากลูกจ้างร้านทำผมในวันนั้น ได้กลายมาเป็น “ดร.สมศักดิ์” เขามีความตั้งใจในการตั้งเค้าโครงการสร้างมาตรฐานอาชีพช่างทำผมไทย จึงนำธีสิสไปให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานปรับ “มาตรฐาน" ช่างเสริมสวยของประเทศ “ผมเป็นประธานที่ปรึกษาปรับระดับมาตรฐานของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีมาประมาณ 5 ปีแล้ว โดยให้ผมเป็นที่ปรึกษา มาตรฐานระดับ 1-4 จะเป็นเรื่องทักษะ ส่วนระดับ 5-8 เป็นเรื่องของบริหารและจัดการ ระดับโลกเขาก็เปรียบเทียบกันเรื่องมาตรฐานวิชาชีพกับมาตรฐานการศึกษา เช่น ระดับ 1 เท่ากับประถมศึกษา ระดับ 2 เท่ากับมัธยมศึกษา ระดับ 3 เท่ากับอนุปริญญา ไล่ไปถึงจนระดับ 8 เลย นี่คือสิ่งที่เรากำลังให้วงการช่างทำผมในประเทศไทย” 


“ช่างทำผมคนไทยเก่งเรื่องครีเอทีฟมากนะครับ แต่ด้อยเรื่องบริหาร  ร้านทำผมถึงได้เจ๊งเยอะ บทบาทหนึ่งของผมคือต้องการพัฒนาซาลอนไทยให้อยู่ยั่งยืน ผมต้องมีวิชาบริหารจัดการให้เขาเพราะผลิตภัณฑ์ของงานเสริมสวยก็คือ ‘การบริการ’ และ ‘ทักษะทางธุรกิจ’ ถือเป็นนวัตกรรมของวิชาชีพนี้”


ผลลัพธ์จากการปรับหลักสูตรช่างทำผมในเมืองไทย ทำให้เกิดการบัญญัติคำว่า Emotional Product  และยังนำไปสู่การก่อตั้งสถาบันชลาชล ที่มีหลักสูตรเทรนนิ่งช่างผม สอนการปรับ Mindset ให้เหมาะสมกับวิชาชีพ  บุคลิก และการให้บริการ นักเรียนที่เข้าเรียน 1 คน ออกมาเป็น 1 ช่างทำผม ซึ่งก็เท่ากับ 1 โปรดักต์นั่นเอง


“คุณเชื่อไหมเดี๋ยวนี้ร้านทำผมในไทยสวยที่สุดในโลก สะอาดที่สุดในโลก ช่างไทยก็เก่งที่สุดในโลก ไปประกวดที่ไหนได้แชมป์โลกมาหมดเลย อย่าลืมว่าทุกคนต้องเข้าร้านทำผม ในเชิงจิตวิทยาร้านทำผมทำให้คนมีความสุขได้ GDP ของความสุขมีมูลค่ามหาศาล”


“ผมใช้นวัตกรรมทางความคิดของผมค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ คิดมาเรื่อย ๆ เป็นเวลากว่า 40 ปี และผมก็รักอาชีพของผม ผมสามารถทำให้อาชีพช่างเสริมสวยเป็นปึกแผ่นได้ เดี๋ยวนี้ช่างทำผมจบระดับปริญญา บางคนจบจากเมืองนอก เราพัฒนาอาชีพที่เรารัก และสร้างนวัตกรรมในอาชีพให้พัฒนาต่อไป”


 

A Hairdresser Who Revolutionalises Thailand’s Salon Industry

Somsak Chalachol is the founder of Chalachol, one of the most famous hair salons with 17 branches across the country. It all began 40 years ago when he was determined to elevate Thai hairdressing practices to meet international standards. Having completed two bachelor’s degrees in Political Science and Political Economics from Ramkhamhaeng University and Chulalongkorn University respectively, Somsak continued onto a PhD in Human Resources Development at Ramkamheang University. With collaboration from the Department of Skill Development, he wrote a dissertation that would eventually set guidelines for the national standards for hairdresser profession and business. Serving five years as the chief advisor at Thailand Professional Qualification Institute, he drafted the national standard, divided into 8 levels, for professional skills and business management. “Creativity is our strength and management is our weakness. That’s why many salons failed miserably. One of my goals is to strengthen and sustain Thailand’s beauty salon industry which needs both service excellence as a product and business management as an innovation.” Chalachol Training Institute was consequently founded to continue his creative innovation, pass on his expertise and knowledge and of course to help guide other Thai hairdressers.

643 views0 comments
bottom of page