top of page
  • Writer's pictureNIA 100 FACES

ชุบ นกแก้ว | ภาพรีทัชปลุกสังคม

Updated: Jun 7, 2021




จากปลายนิ้วกดชัตเตอร์ สู่เมาส์ปากกาที่เนรมิตภาพจากความคิด

ของชุบนกแก้ว


สำหรับคนในวงการโฆษณาแล้วคงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก ชุบ นกแก้ว ช่างภาพและรีทัชเชอร์ (นักแต่งภาพ) มือทอง

ผู้อยู่เบื้องหลัง CHUBCHEEVIT STUDIO ซึ่งกวาดรางวัลใหญ่ในวงการโฆษณาระดับโลก เช่น Gold Cannes Lion และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย  กระนั้นเมื่อพูดถึงชื่อของชุบในสังคมทั่วไป หลายคนอาจยังไม่คุ้นชื่อของเขานัก แต่ถ้าบอกว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังภาพการสวมหน้ากากกันฝุ่นละอองให้กับรูปปั้นยักษ์วัดแจ้ง วัดโพธิ์ และวัดพระแก้วแล้ว หลาย ๆ ท่านคงร้องอ๋ออย่างแน่นอน


ชุบแบ่งการทำงานของเขาออกเป็นสองประเภทประเภทแรกคืองานช่างภาพและแต่งภาพเพื่อโฆษณา เขาเรียกว่าเป็นงานที่ใช้เลี้ยงปากท้อง โดยเนื้อหางานจะใช้ความคิดจากลูกค้าเป็นตัวตั้งแล้วเติมเต็มความคิดนั้นด้วยการสร้างให้เป็นภาพตามที่ลูกค้าต้องการจากทักษะและความสร้างสรรค์ของคุณชุบ ส่วนงานประเภทที่สองเป็นงานเพื่อหล่อเลี้ยงจิตใจ คืองานถ่ายภาพและแต่งภาพส่วนตัวของเขาที่ทำทั้งเพื่อความต้องการของตนเองและทำเพื่อสังคม


เราอยากใช้ความสามารถในการแต่งภาพของเราเพื่อช่วยสังคมอีกทางหนึ่ง

จากความรู้สึกส่วนตัวสู่ความรู้สึกส่วนรวม

“จริง ๆ แล้วแทบจะไม่มีวิธีคิดเลย จะทำงานออกมาตามความรู้สึกประกอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น…”  

เขาตอบเมื่อถูกถามถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานพร้อมยกตัวอย่างให้ฟังถึงชุดภาพรูปปั้นยักษ์สวมหน้ากากกันฝุ่นที่เป็นข่าวดังในชั่วข้ามคืน ว่าชุดภาพนี้ก็มาจากเรื่องของฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ในเวลานั้นสังคมยังไม่มีการตื่นตัว คนส่วนใหญ่ยังคงไม่ใส่หน้ากากกันฝุ่น และไม่ตระหนักถึงอันตรายของฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ เลยเกิดไอเดียไปถ่ายรูปปั้นยักษ์ยืนกลางแจ้งมาแต่งภาพใส่หน้ากากกันฝุ่นเพื่อจะสื่อสารกับสังคมว่าฝุ่นละอองที่อยู่ภายนอกนั้นอันตราย ควรใส่หน้ากากเพื่อป้องกันตัวเองได้แล้ว “เหมือนกับที่นักแต่งเพลงแต่งเพลงเพื่อสังคม เราก็รู้สึกอยากใช้ความสามารถในการแต่งภาพของเราเพื่อช่วยสังคมอีกทางหนึ่ง” หรืองานส่วนตัวอีกชิ้นหนึ่งที่ชุบรู้สึกชอบที่สุดคือภาพชุด “พาแม่ไปเที่ยวที่ไหนก็ได้บนโลกนี้” ที่เขาได้นำภาพของคุณแม่ตัวเองมาแต่งภาพให้คุณแม่ได้ไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก 


“ปกติทุกวันแม่ พี่ ๆ น้อง ๆ คนในครอบครัวจะกลับมารวมตัวกัน แต่ปีนั้นติดงานเลยไม่ได้กลับ เราก็มาคิดได้ว่าไม่เคยพาแม่ไปเที่ยวไหนเลย หลังจากที่นั่งคิดแล้วก็นำรูปที่ถ่ายแม่ไว้มาแต่งภาพเหมือนได้พาแม่ไปเที่ยวทั่วโลก ซึ่งก็เกิดจากความรู้สึกของเรานี่แหละ แต่พอโพสต์ลงไปแล้วมันก็ไปโดนใจคนอื่นที่มาเห็น เหมือนเตือนเขาว่าอย่าลืมนึกถึงแม่ ให้กลับไปดูแลแม่บ้าง”


จากความรู้สึกส่วนตัวของชุบที่ถ่ายทอดผ่านเครื่องมืออย่างกล้องถ่ายรูปและโปรแกรมตกแต่งภาพได้กลายมาเป็นเครื่องกระตุ้นสังคมให้เกิดแง่คิดและสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นที่คนอาจลืมเลือนหรือมองข้ามผ่านมันไป


เขายังเล่าถึงผลงานอีกชุดที่ใช้แสงไฟในการวาดภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 ในทุก ๆ วันที่ 5 ธันวาคมที่ผู้คนมากมายต่างมารอชมรอแชร์ภาพวาดแสงไฟจากคุณชุบทุกปี และเมื่อมีคนมาขอซื้อผลงานนี้ เขาก็ไม่ได้ขายผลงานเหล่านั้น แต่ให้ไปใช้โดยไม่ได้คิดเป็นเงิน 

“มันไม่น่าตีเป็นมูลค่าได้ ก็เลยให้องค์กรต่าง ๆ ไปใช้ ก็ถูกนำไปใช้ทำบิลบอร์ด ทำติดที่ต่าง ๆ เรารู้สึกว่าเรามีความสุขกับสิ่งที่ให้ไป เราไม่ได้คิดถึงตัวเงิน ก็เป็นความภูมิใจทุกครั้งที่เห็นรูปเหล่านี้”


ส่งต่อแรงบันดาลใจ

“อยากให้ทุกคนลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ แล้วทำมันย้ำ ๆ อย่าเพิ่งคิดว่าเราทำไปแล้วจะได้อะไร ให้ลงมือทำไปซ้ำ ๆ แล้ววันหนึ่งมันจะเกิดผล”  ชุบแนะนำให้เริ่มลงมือทำจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ชอบ ที่ทำแล้วมีความสุขให้ลงมือทำไปเรื่อย ๆ พลางยกตัวอย่างการแต่งภาพและถ่ายรูปที่คุณชุบทำทุกครั้งเมื่อมีโอกาส ให้ลองหาความสุขจากการกระทำของเราให้เจอ ยิ่งในช่วงจังหวะสถานการณ์ที่ออกไปไหนไม่ได้เช่นช่วงโควิดแบบนี้ ก็อาจเป็นโอกาสให้เราได้ค้นพบตัวเอง ได้ค้นพบความสุขจากการทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อนก็เป็นได้


 

From Photographer to Retoucher: Chub’ Magic that can Awaken Society

In the advertising industry, Chub Nokkaew is one of the famous and award-winning photographers and photo editors, who is behind the notable success of ‘Chubcheevit Studio’, winning a number of prestigious awards such in a global scale as Gold Cannes Lion and many others. Some people may not recognise his name ‘Chub’, but they are surely familiar to his ‘talk-of-the-town’ giant iconic statues from Wat Chaeng, Wat Pho and Wat Phra Kaew wearing face masks. “In fact, I don’t have any particular methodology, but I work based on my feelings together with the hot issues in the society at the moment,” Chub talked about his inspiration. As many Thais took the danger of PM2.5 air pollution for granted, the intention behind Chub’s ‘remarkable’ giant iconic statues wearing face masks is aimed at raising Thai public awareness abou fatally dangerous air pollution. “It’s like a song writer who composes a song to reflect the society; therefore, I want to use my photographic skill to raise public awareness.” He believes that photographs, both original and digitally doctored, can be used to encourage and raise public awareness about something that most people take it for granted, thus improve the society. “I want to encourage people to do what they like and do it over and over. Don’t think of the outcome at the first stage. If you keep doing it, it will be worth somehow someday”. Finally, we will realise that we can easily find our own ‘happiness’ from starting doing what we like. For me, I realised that photography is my sheer happiness.

912 views0 comments
bottom of page