เมื่อการออกแบบของเล่นไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเล่น ๆ หากมันทำให้เรามองเห็นถึงความขาดโอกาสและความไม่เท่าเทียม
เมื่อพูดถึงความหมายของ “ของเล่น” เรามักนึกถึงสิ่งของที่มีไว้ให้เด็กเล่นเพื่อความสนุกสนาน หากแต่สิ่งที่ “ต๊อง - รัตติกร วุฒิกร” นักออกแบบของเล่นเจ้าของบริษัทคลับ ครีเอทีฟ จำกัด ได้ทำกลับทำให้ของเล่นและเกมกลายเป็นอุปกรณ์ในการสร้างพื้นที่เพื่อการพัฒนาผู้เล่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ๆ และเยาวชน
จากความชอบส่วนตัวและความอยากท้าทายตนเองในการออกแบบของเล่น รัตติกรเริ่มเดินทางสายนักออกแบบของเล่นที่บริษัทของเล่นชั้นนำ ได้มีโอกาสเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ ได้เรียนรู้สั่งสมประสบการณ์ จนกระทั่งได้ร่วมเวิร์กชอปหนึ่งที่ประเทศอังกฤษ “จุดหักเหคือได้ไปออกแบบของเล่นให้เด็ก ๆ ผู้มีความพิการทางสายตา เราจะได้เห็นว่าการออกแบบมันมีพลังแค่ไหนและยังรู้สึกว่ามันมีความหมายมากขึ้น และเราก็ยังได้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่าในตลาดไม่ได้มีของเล่นสำหรับคนที่มีปัญหาเหล่านี้อยู่เลย แล้วพอเราได้ออกแบบของเล่นให้พวกเขาเล่น มันทำให้พวกเขามีความสุขมากขึ้นได้จริง ๆ ”
รัตติกรมองเห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงการเล่นที่มีคุณภาพ ไม่ใช่เพียงแต่กับผู้มีความพิการ แม้แต่เด็ก ๆ ที่มีความสมบูรณ์ทางกายบางกลุ่ม จึงเกิดแรงบันดาลใจนำทักษะของตนเพื่อเติมช่องว่างของความเท่าเทียมที่ขาดหายไป “ถ้าเด็ก ๆ ทุกคนไม่ได้รับความเท่าเทียมในการเล่น ไม่ได้เข้าถึงโอกาสในการเล่นที่มีคุณภาพเหมือน ๆ กัน แล้วเราจะหวังให้พวกเขาสร้างสังคมที่เท่าเทียมในอนาคตต่อไปได้อย่างไร”
ถ้าเด็ก ๆ ไม่ได้เข้าถึงการเล่นที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน แล้วเราจะหวังให้พวกเขาสร้างสังคมที่เท่าเทียมได้อย่างไร
การออกแบบงานเพื่อการเข้าถึงการเล่นที่มีคุณภาพ เป็นหัวใจหลักของการทำงานของรัตติกร ผู้ออกแบบต้องทำความเข้าใจผู้เล่น ต้องมองเห็นถึงปัญหาหรือโอกาสที่ของเล่นจะเข้าไปสร้างประสบการณ์แก่ผู้เล่นตามเป้าหมาย จึงต้องทำการศึกษา ตั้งสมมติฐาน ลองออกแบบ และทำการทดสอบจนแน่ใจ แล้วค่อยเริ่มต้นกระบวนการผลิตจริง “...ในช่วง 12-13 ปีหลังนี้ ได้มาทำเรื่องเกมเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม นอกจากต้องทำความเข้าใจมากกว่าแค่ผู้เล่น เราต้องมองรูปแบบปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม แล้วนำมาออกแบบเป็นเกมใช้เกมเป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาสที่จะเข้าไปพูดถึงหรือกระทำการใด ๆ กับปัญหานั้นซึ่งจริง ๆ ก็มีความยากและท้าทายมาก”
ในงานออกแบบเกมกระดานที่มีเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ตัวเกมมีหน้าที่เป็นตัวกลางที่ช่วยในการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในวงเกมไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้แก่ผู้เล่น หรือการสร้างพื้นที่อันเอื้อให้เกิดความเข้าใจ และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิด เป็นต้น ซึ่งเนื้อหาของเกมที่เคยทำก็จะมีความหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องของประชาธิปไตย กฎหมาย สิทธิมนุษยชน หรือกระทั่งเกมเพื่อลดอัตราการก่ออาชญากรรมในเด็กและเยาวชนโดยทั้งหมดมุ่งเน้นให้เกมทำหน้าที่ทั้งเพื่อความสนุกและสร้างความเปลี่ยนแปลง พัฒนาผู้เล่นได้จริง “พอเรามาพร้อมกับเกมและของเล่น คนก็จะคาดหวังเรื่องความสนุกอยู่แล้ว และด้วยวัตถุประสงค์ของเรา เราอยากสร้าง Public Debate แบบใหม่ ให้บทสนทนาที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ทั่ว ๆ ไปมาเกิดขึ้นจากการเล่นเกม ฉะนั้นถ้าเกมไม่ได้ให้ความรู้สึกปลอดภัย หรือเกมไม่สนุก บทสนทนาที่เราคาดหวังไว้ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้”
จากประสบการณ์ในวงการออกแบบของเล่น เธอได้รับรางวัลในการออกแบบมากมาย เช่น Gold Award จาก The Good Toy Guide BBC - Toy Box Magazine และ Best Toy Award จากนิตยสาร Right Start จากประเทศอังกฤษ, Toy Inovation Award 2006 จากงานแสดงของเล่นนานาชาติที่ประเทศเยอรมนีเป็นต้น และผลงานยังถูกนำไปแปลเป็นภาษาอื่น ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยไม่ได้หยุดอยู่แค่สังคมไทย
ปัจจุบันรัตติกรยังคงสร้างงานออกแบบเพื่อสังคมออกมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของมนุษย์ เธออยากส่งพลังต่อให้ทุก ๆ คนเชื่อมั่นในตัวเอง ให้ลงมือทำสิ่งต่าง ๆ อย่างมีสติ ด้วยความรู้ความเข้าใจ ความรับผิดชอบ และความรัก “อยากให้ทุกคนเชื่อในตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง อยากจะทำอะไร ให้ลองทำเลย ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ประสบความสำเร็จไปทุกอย่าง ก็จะเป็นบทเรียนให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้นต่อไป”
A Toy Designer Who Calls for Equality
‘Toys’ often remind us of playthings for children and most people do not really take them seriously. For Rattikorn Vuttikorn or Tong, a toy designer and the owner of Club Creative, toys and games are however a platform for players’ development especially children and youngsters. From her personal preference and desire to challenge herself in designing toys, Rattikorn began her toy designer journey at a leading toy company. She had an opportunity to work abroad, learn and find meaning in what she was doing. “The turning point was when I designed toys for children who were visually challenged. I would see how powerful the design was and feel its profound meaning. Also, I could see that there were no toys for people with these problems. When I designed toys for them to play, it really made them happier. Without equal access to small matters such as toys, how can we hope for a more equal society in the future?” Therefore, the essence of Rattikorn’s work is to design a quality play that everyone can take part in. From her experiences in the toy design industry, she has received numerous awards such as the Gold Award of the Good Toy Guide BBC-Toy Box Magazine, Best Toy Award from Right Star Magazine in England, and Toy Innovation Award in 2006. Her works have also been translated into other languages to create impactful social changes.
Comments