top of page
  • Writer's pictureNIA 100 FACES

รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข | ผู้ปฏิวัติวิชาชีพดนตรีจากวิชาข้างถนนสู่คุณค่าระดับสากล

Updated: Jun 19, 2021



จากเด็กบ้านนอกที่มีใจรักในดนตรี สู่ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ให้ระบบการศึกษาดุริยางคศิลป์ในประเทศไทย  


“รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข” ผู้ก่อตั้งและอดีตคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์แห่งแรกของประเทศไทย ผู้ซึ่งเติบโตมากับเสียงดนตรีจากเพลงพื้นบ้านอันเป็นวิชาชีพของบิดา และการเข้าเรียนในโรงเรียนคริสเตียนยิ่งเพิ่มดีกรีสายเลือดดนตรีให้เข้มข้นขึ้น กระทั่งจบการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาการเล่นและการสอนแซ็กโซโฟน จาก University of Northern Colorado สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นคนไทยคนแรก ๆ ในสมัยนั้นที่เรียนจบระดับปริญญาเอกในสาขาดนตรีปฏิบัติ

ในขณะที่สังคมไทยเห็นว่า ดนตรีเป็นวิชาชั้นต่ำ เป็นวิชาชีพของทาสและไพร่คอยบำเรอเจ้านาย “ดนตรีเป็นวิชาข้างถนนของพวกเต้นกินรำกิน” ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมไทยแต่อย่างใด ดร.สุกรีจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศาสตร์ดนตรีให้เป็นที่ยอมรับ มีศักดิ์และศรีทัดเทียมกับที่นานาอารยประเทศ

รศ. ดร.สุกรีเชื่อว่า พรสวรรค์สร้างได้ ไม่ต้องรอเทวดา ดนตรีเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมมีส่วนบันดาลให้เด็กเกิดพรสวรรค์ “สำหรับผม ดนตรีคือศาสตร์ของนักปราชญ์ เป็นศิลปะของหัวใจ ที่ช่วยพัฒนาคนให้เจริญได้” เมื่อเริ่มโครงการก่อตั้งวิทยาลัยสิ่งแรกที่ รศ. ดร.สุกรีมองหาคือ สถานที่ที่เหมาะต่อการสร้างจุดเริ่มต้นเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศ และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่เลือก มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ ด้วยเชื่อว่าหากแพทย์มีไว้เพื่อรักษาคนในเชิงกายภาพ ดนตรีก็มีไว้เพื่อรักษาสุขภาพจิตด้วยเช่นกัน


สำหรับผม ดนตรีคือศาสตร์ของนักปราชญ์ เป็นศิลปะของหัวใจ ที่ช่วยพัฒนาคนให้เจริญได้

กรอบคิดในการพัฒนาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ถูกวางอยู่บนหลัก 6 ประการ ประกอบด้วย

  1. อาคารสถานที่ (Hardware) ปัจจัย พื้นฐานและบริบทโดยรอบ สิ่งอำนวยความสะดวกและบรรยากาศในการเรียน

  2. อุปกรณ์ดนตรี (Software) เครื่องมือในการเรียนที่มุ่งใช้เทคโนโลยีและเครื่องดนตรีที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้เรียนและผู้สอนได้มีครุภัณฑ์ที่ดีสำหรับการพัฒนาหลักสูตร

  3. บุคลากร (Peopleware) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่นักเรียน ครูผู้สอน คนทำงาน และผู้ปกครองเพราะเชื่อว่า คนเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพและคุณภาพคือปัจจัยหลักในการเปลี่ยนแปลง

  4. เงิน (Moneyware) ปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการศึกษา เงินเป็นอุปกรณ์ที่ดีที่สุดการสร้างงานที่ดีต้องมีเงิน ต้องใช้เงินเพื่อการลงทุน

  5. คุณภาพ (Qualityware) คุณภาพคือ ความสำเร็จ คุณภาพคือชัยชนะ ในโลกทุนนิยม คุณภาพเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นสิ่งสำคัญ โลกทุนนิยมตัดสินกันที่คุณภาพ

  6. จิตวิญญาณ (Spiritualware) หัวใจของคุณค่าความเป็นมนุษย์ ชัยชนะและความสำเร็จไม่ใช่ว่าได้มาเพราะฝีมือและความสามารถเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับขนาดของหัวใจ

“เมื่อความไพเราะของโลกมารวมอยู่ที่ศาลายา แม้แต่เทวดาก็อยากฟัง” เป็นประโยคที่ ดร.สุกรีสรุปให้เห็นภาพความตั้งใจที่คอยดูแลและพัฒนาอย่างต่อเนื่องกว่า 3 ทศวรรษ ปัจจุบันวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันเดียวในประเทศที่เปิดสอนวิชาดนตรีตั้งแต่ระดับเตรียมอุดมศึกษาถึงระดับปริญญาเอก และเป็นสถาบันแห่งเดียวในไทยที่สอนทั้งดนตรีไทยและสากล

แม้วันนี้อาจารย์จะเกษียณออกมาแล้วแต่เส้นทางใหม่ก็น่าสนใจไม่น้อย นั่นคือ การบุกเบิกการสอนดนตรีกับเด็กอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 ขวบที่โรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ พุทธมณฑลสาย 2 กรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นแห่งแรกของเมืองไทยที่เปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรนี้ ที่ยังเป็นที่เดียวในโลกที่มีเด็กเข้าร่วมเรียนมากที่สุด

“เรามีความเชื่อว่า เด็กเป็นลูกของสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เด็กเป็นอย่างนั้น การปลูกฝังดนตรีตั้งแต่เล็กจึงเป็นการสร้างรากฐานที่ควรทำ” รศ. ดร.สุกรีกล่าวถึงหมุดหมายต่อไป ที่หวังว่ามันจะกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะต่อยอดไปไม่สิ้นสุด

 

A Music Professional Who Made History

A revolutionist of the music profession who changed a street subject to international excellence, Assoc. Prof. Dr. Sugree Charoensook founded the College of Music, Mahidol University. He grew up with the music of his father’s professional folk songs and graduated with a doctoral degree in performing and teaching saxophone from the University of Northern Colorado, USA. He was considered one of the first Thai people at the time to graduate with a doctoral degree in musical practice. Before, Thai society viewed that music belonged to the lower class. It was the profession of slaves and the people who were waiting to serve their masters. “Music was a street subject of the performers.” Since they had not yet been accepted by Thai society, Dr. Sugree intended to develop music to be accepted and dignified. “Talent can be created and doesn’t require gods to excel. Music is a matter of the environment. The environment plays a part in the talent of children. Music is the science of a philosopher and the art of the heart to help develop people to prosper.” He believes that youth is influenced by the environment. So, we should cultivate music in young children.

902 views0 comments

留言


bottom of page