top of page
  • Writer's pictureNIA 100 FACES

อมตะ หลูไพบูลย์ และทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ | เมื่อข้อจำกัดคือต้นทุนสำคัญของการสร้างสรรค์มูลค่า

Updated: Jun 19, 2021



คู่หูสถาปนิก ผู้มีความเชื่อว่างานสถาปัตยกรรมต้องสร้างให้เสร็จบนความคิด ก่อนจะก่อรูปร่างบนความจริง


เราอาจเคยได้ยินคนพร่ำบอกให้เอาชนะ “เงื่อนไขและข้อจำกัด” ในการเข้าถึงความสมบูรณ์แบบของการทำงานสร้างสรรค์ ทว่าความคิดนี้อาจใช้ไม่ได้กับ “อมตะ หลูไพบูลย์” และ “ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ” ผู้ก่อตั้ง Department of ARCHITECTURE Co. บริษัทสถาปนิกที่กวาดรางวัลมาแล้วมากมาย เช่น Blueprint Awards (สหราชอาณาจักร), Architizer A+ Awards (สหรัฐอเมริกา), สมาคมมัณฑนศิลป์นานาชาติ (International Interior Designs Association), สภาสถาปนิกแห่งภูมิภาคเอเชีย (Architects Regional Council Asia) สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์รวมถึงรางวัลศิลปาธรสาขาสถาปัตยกรรม จากผลงานอันโดดเด่นที่อาจจะเคยผ่านตาใครหลายคนมาแล้วตั้งแต่งานออกแบบรีสอรต์และโรงแรมอย่าง Sala Phuket Resort, คอมมูนิตี้มอลล์ The Commons, ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ TCDC และโครงการปรับปรุงหอสมุดคณะสถาปัตยกรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งสองยืนยันว่า ผลงานเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะอาวุธของพวกเขาถูกลับจนคมด้วยข้อจำกัดสารพัดรูปแบบ


สร้างด้วยประวัติศาสตร์ ออกแบบด้วยวัฒนธรรม

Department of ARCHITECTURE Co. เกิดขึ้นเมื่อปี 2547 เมื่อสองสถาปนิกอยากมีบริษัทเป็นของตัวเองที่ไม่ใหญ่มาก รับงานได้หลากหลาย อย่างการออกแบบภายในและงานภูมิสถาปัตย์ งานแรกของพวกเขาในฐานะบริษัทหน้าใหม่คืองานออกแบบ Sala Phuket Resort “วิธีคิดทุกโพรเจกต์ของเราจะเริ่มจากการทำความเข้าใจกับข้อมูลทุกด้าน เพื่อที่จะหาว่าเราจะนำเสนออะไรใหม่ ๆ ลงไปได้บ้าง” ทวิตีย์อธิบายหลักการในการออกแบบของพวกเขาคือการเข้าใจทุกองค์ประกอบ ทั้งสิ่งที่มองเห็นอย่างรูปทรงวัสดุที่นิยมในพื้นที่ ทิศทางของแสง ตำแหน่งที่ตั้งและสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา อย่างประวัติศาสตร์ วิถีชุมชน วัฒนธรรม “ตึกมันเกิดขึ้นจากประวัติศาสตร์นะ จากพื้นดิน จากสิ่งที่อยู่ใกล้ ๆ กันละแวกนั้น” อมตะเสริมพร้อมยกตัวอย่างลักษณะโค้งเว้าเพื่อโอบล้อมต้นไม้ใหญ่หน้าโครงการของอาคาร The Commons ศาลาแดง “มันมีความหมายได้เพราะว่ามันอยู่ตรงนั้นแหละ ถ้ามันไปอยู่ที่อื่นก็ไม่รู้จะโค้งแบบนั้นไปทำไม”


ข้อจำกัดคือเครื่องมือชั้นดี

“ทุกครั้งที่ทำงาน เราอยากให้มันดีที่สุดในศักยภาพของโพรเจกต์นั้น เราเลยใส่พลังทั้งหมดลงไป” ทวิตีย์พูดถึงหลักในการทำงานเมื่อเผชิญกับข้อจำกัด “ถ้าให้เวลาเราสักหน่อย เราจะเจอวิธีการที่ดีที่สุดได้ไม่ยาก” ตัวอย่างที่พวกเขายกมาใช้ประกอบคำอธิบายก็คือ งานออกแบบโรงแรม Little Shelter ที่เชียงใหม่ ซึ่งใช้วัสดุเป็นเศษไม้แป้นเกล็ดเหลือทิ้ง และใช้โครงร่มบ่อสร้างแทนโคมระย้าราคาแพง วิธีเอาชนะข้อจำกัดคือการทุ่มเทเวลาไปกับการคิดจนได้ทางออกที่ดีที่สุด พวกเขาใช้เวลากันอย่างเต็มที่ในการวางแผน เพื่อที่จะได้ใช้เวลาน้อยและมีประสิทธิภาพในการลงมือจริง “และเราอยากให้ทีมงานทุกคนแฮปปี้ที่สุดเวลาทำงานกับเรา พยายามที่จะให้พวกเขามีส่วนร่วมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้” ทวิตีย์พูดถึงงานที่สำคัญไม่แพ้การออกแบบสร้างอาคาร ซึ่งก็คือการสร้างคน โดยเฉพาะพนักงานรุ่นใหม่ซึ่งได้มีส่วนร่วมกับงานแทบทุกขั้นตอน

เงื่อนไขไม่เคยเป็นตัวกำหนดเลย ว่างานที่เราจะทำนั้นมันต้องดีหรือไม่ดี

ผลประกอบการที่ไม่ใช่ตัวเลข

“ลูกค้าของเราได้มาจากคอนเนกชันน้อยมาก ส่วนใหญ่คือคนที่เคยเห็นผลงานกัน” อมตะเล่า ความคุ้มค่าของการลงมือทำงานเห็นได้ชัดเจนยิ่งกว่าผลประกอบการและรางวัลที่ได้ นี่คือสิ่งที่แสดงว่ามีคนมองเห็นคุณค่าของงานออกแบบ พวกเขาไม่ได้รับเลือกเพราะกดราคาได้ต่ำ หรือทำงานได้หรูหราที่สุด แต่เพราะงานของพวกเขามีศักยภาพสูงสุดภายใต้ข้อจำกัดที่มี

“เวลาติดปัญหาติดอุปสรรค แรงขับสำคัญเลยคือเราอยากให้มันดี ทำให้เรามีแรงหาทางออกโดยที่ไม่รู้สึกเหนื่อยหน่ายแล้วยอมแพ้” ทวิตีย์เผย ส่วนอมตะกล่าวว่า “คนไทยเรามีพื้นฐานที่ดีมากเลยนะครับ ลูกค้าหลายประเทศมักจะบอกว่าคนไทยเรามีเซนส์ด้านความงาม ละเอียดอ่อนโดยพื้นฐาน สิ่งที่ทำให้พวกเราไปต่อได้คือ แรงผลักดัน” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการก้าวไปข้างหน้า ไม่ว่าจะมันจะเป็นเรื่องของงานออกแบบหรือไม่ก็ตาม

“ตอนที่เริ่มอาชีพนักออกแบบ เงินมันไม่คุ้มแน่นอน มันต้องผ่านจุดนั้นมาให้ได้ มีงานที่ดีแล้วมีคนกลับมาจ้างเราด้วยราคาที่สูงขึ้น นี่คือผลตอบแทนความพยายามทั้งหมดนั้น”


 

Because Ideas Matter in Architecture

You might have heard that limits and conditions could push you away from reaching perfection. However, they could not stop Amata Luphaiboon and Twitee Vajrabhaya Teparkum from striving for excellence. Amata and Twitee are founders of Department of Architecture Co., which has won a lot of awards, both national and international. They explained that their work could only happen because of all the limits and conditions that they had experienced. The company’s designing motto is to understand every aspect of each project such as shapes, materials, and surroundings. “We always put our full efforts in every project. We just need some time to come up with the best plan for each specific project.” To them, the best way to beat limits or conditions is to take some time to find the best solution. “We also ask for full participation from our staff in every process of each project, so that they can grow professionally.” Amata revealed that most of their customers have come to them not because of their reasonable price or the luxury of their work, but because of the quality and the dedication they always demonstrate in their work.

281 views0 comments
bottom of page