top of page
  • Writer's pictureNIA 100 FACES

ดุจดาว วัฒนปกรณ์ | เสริมสร้างจิตใจ เปลี่ยนสังคมให้ ”เข้าใจ” กันมากขึ้น

Updated: May 30, 2021



ผู้นำศาสตร์การเคลื่อนไหวมาบำบัดจิตที่ช่วยให้คนฉุดคิด เรียนรู้ และเข้าใจตัวเอง


“ตอนเรียนปริญญาตรีได้ทำละครเวที พอเรียนจบมายังอยากทำละครเวทีต่อ และมีโอกาสได้ทำ Physical Theatre ที่เน้นเรื่องการเคลื่อนไหว ได้ใกล้ชิดกับร่างกายตัวเอง จากจุดนี้เองทำให้เราพบว่า เรามาซ้อมละครที่ใช้ร่างกายแต่ส่งผลถึงจิตใจ ด้วยความอยากรู้และมีแพลนไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ก็เคยเลือกศึกษาต่อด้านนี้ เพื่อหาคำตอบว่าการเคลื่อนไหวสัมพันธ์กับการทำงานของจิตใจอย่างไร”

“ดุจดาว วัฒนปกรณ์” นักบำบัดจิตด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว คนแรก ๆ ของประเทศไทยที่เรียนจบศาสตร์นี้มาโดยตรงเล่าถึงเหตุผลที่ทำให้เธอตัดสินใจเรียนปริญญาโทสาขา Dance Movement Psychotherapy (การบำบัดจิตด้วยศิลปะเคลื่อนไหว) ที่ Goldsmiths University of London

“คอร์สนี้สอนให้รู้ว่าการเต้นหรือการเคลื่อนไหวไม่ได้เป็นศิลปะสวยงามเพื่อความสนุกสนานหรือเพื่อการปลดปล่อยเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าทำมันดี ๆ มันคือกระบวนการช่วยคิดและเข้าใจในตัวเอง ซึ่งมีอานุภาพมากพอที่จะเยียวยาจิตใจคนได้ด้วย” ดุจดาวอธิบายถึงหัวใจสำคัญของหลักสูตรการบำบัดจิตด้วยศิลปะเคลื่อนไหว

เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ของการเคลื่อนไหวกับจิตใจ ดุจดาวบอกว่าการเคลื่อนไหวทำให้เรารู้เท่าทันจิตใจของตัวเอง รับรู้ว่าในทุกอณูของร่างกายมีความรู้สึกนึกคิด มีความทรงจำ ประสบการณ์ชีวิต การที่เรารู้จักเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ที่ผ่านมาในชีวิต จะทำให้เราเข้าใจความเป็นไปของตัวเองอย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น นำไปสู่การตั้งรับและแก้ปัญหาที่เข้ามาในชีวิตได้ และเปลี่ยนแปลงชีวิตไปในทางที่ดีขึ้น “ร่างกายเป็นแหล่งรวมข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเราทั้งสิ่งที่เราจำได้และจำไม่ได้ มันบันทึกตั้งแต่วันแรกที่เราเกิดจนถึงปัจจุบันและไม่เคยหยุดแม้กระทั่งเวลาที่เราหลับ เราจำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวเราผ่านผัสสะทุกอย่าง การเคลื่อนไหวร่างกายจึงเป็นการกระตุ้นสิ่งที่ลืมไปแล้วมาเชื่อมโยงกับความคิด หรือดึงทักษะที่เราอาจจะไม่ค่อยได้ใช้ ไม่ค่อยได้หยิบมามอง เอามาประมวลแล้วเกิดความเข้าใจในตัวเอง”


ถ้าคนเรามีพื้นที่พร้อมที่จะเข้าใจต่อกันมากขึ้น รู้จักคิดในมุมของคนอื่นบ้าง บรรยากาศสังคมก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเช่นกัน

ด้วยบทบาทของนักจิตบำบัดที่อยากให้ใคร ๆ รู้จักตัวเองและเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น จึงนำไปสู่การเป็นโฮสต์ประจำรายการพอดแคสต์ R U OK ที่หยิบยกพฤติกรรมในชีวิตประจำวันและเรื่องใกล้ตัวมาสื่อสารในมุมมองที่แตกต่าง เพื่อทำให้ปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องเข้าใจง่ายและสื่อสารถึงคนทั่วไปในวงกว้างขึ้น โดยเธอเล่าถึงประสบการณ์ประทับใจจากการเป็นวิทยากรใน R U OK ที่ทำให้นักเรียนมัธยมคนหนึ่งที่มีปัญหาสุขภาพจิตและเคยมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง ตัดสินใจขอรับการช่วยเหลือจากนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เปิดใจก็คือการได้ฟังรายการ R U OK

นอกจากนี้ ดุจดาวยังมีตำแหน่งเคยเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโสด้านการสื่อสาร บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีบทบาทในการนำทักษะนักจิตบำบัดมาถ่ายทอดแก่บุคลากรทางการแพทย์ เป็นการทำงานเชิงป้องกันเพื่อจัดการด้านคุณภาพความปลอดภัยของผู้เข้ารับบริการ โดยใช้ทักษะการสื่อสารเพื่อแสดงความเห็นใจ (Empathic Communication) เลือกใช้น้ำเสียง คำพูด และการแสดงออกอย่างเหมาะสมเพื่อประคับประคองคนไข้ควบคู่ไปกับการรักษาอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย

คุณค่าของการเป็นนักจิตบำบัดของดุจดาวคือการทำให้ผู้คนรู้จักเข้าใจตัวเองและนำไปสู่ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งเธอเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น “ถ้าคนเรามีพื้นที่ที่พร้อมจะเข้าใจกันมากขึ้น รู้จักคิดในมุมของคนอื่นบ้าง บรรยากาศสังคมก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเช่นกัน” เพราะสิ่งที่เรียกว่า Empathy คือสิ่งที่ดุจดาวเรียกว่าเป็นของขวัญที่เธอได้รับจากการเป็นนักจิตบำบัด เธอจึงอยากบอกเล่าและมอบสิ่งนี้ให้สังคมด้วยเช่นเดียวกัน


 

Dance for Social Harmony

Dujdao Vadhanapakorn is a very first Thai dance movement psychotherapist who obtained Master’s degree in Dance Movement Psychotherapy from Goldsmiths University of London. “Movement is an artistic performance not merely for entertainment nor beauty, but it can help us see through and understand ourselves with its power to heal spiritual wounds if it’s done well.” As a psychotherapist, Dujdao decided to host a podcast called ‘R U OK’ to discuss mental health issues and behaviors and to encourage people to have a better understanding and empathy of themselves and others. Hosting a podcast called ‘R U OK’, she firmly believes that her podcast can be a medium to reach more people in wider contexts. She wants to make people realize that mental health issues are close to home and we can deal with them. With her specialties in empathic communication and psychotherapy, she used to work as a senior assistant director in communication for a company and to provide training sessions for medical staff on how to effectively use voices, words, and actions with patients along with healing their illnesses. The value of being a psychotherapist, for Dujdao, is to make people understand themselves, leading to better understanding and empathy for others, as she believes that this can make a better society. “If people understand each other and think about other people’s views more and more, the society will be better and better. Dujdao believes that ‘Empathy’ is a gift she got from being a psychotherapist and she wants to share this and gives it to society.


245 views0 comments

Comments


bottom of page