top of page
  • Writer's pictureNIA 100 FACES

เหมวิช วาฤทธิ์ | จากเด็กไทยผู้หลงใหลในวิทยาศาสตร์สู่นวัตกรรมช่วยเหลือคนพิการระดับโลก

Updated: May 30, 2021



เหมวิช วาฤทธิ์ ผู้เข้ารอบ 20 คนสุดท้ายโครงการ Google Science Fair ปี 2019 ด้วยอายุที่น้อยที่สุดจากผลงานเครื่องช่วยฟังสำหรับผู้สูญเสียการได้ยิน



“ตอนเด็กๆ เวลาที่คุณแม่เอาของเล่นมาให้ ผมก็จะตั้งคำถาม และดูว่าทำไมมันถึงทำงานได้ เลยทำให้ผมรู้สึกชอบวิทยาศาสตร์ขึ้นมาเพราะเราสามารถตั้งคำถามกับมันได้” ฮับ-เหมวิช วาฤทธิ์ บอกถึงจุดเริ่มต้นในความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ของตัวเอง ด้วยวัยเพียง 13 ปี เหมวิชกลายเป็นผู้ผ่านเข้ารอบ 20 คนสุดท้ายโครงการ Google Science Fair ปี 2019 ที่อายุน้อยที่สุด จากผลงาน ‘EarZ' เครื่องช่วยฟังสำหรับผู้สูญเสียการได้ยิน ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่บอกความเป็นตัวเขาได้ดีที่สุดเพราะมันประกอบด้วย 3 สิ่งที่เขารัก นั่นคือวิทยาศาสตร์ ดนตรี และงานจิตอาสา


“มีวันนึงที่ผมเล่นกีต้าร์โดยไม่ได้ต่อสายแจ็คเข้ากับเครื่องขยายเสียง ในตอนนั้นคุณแม่ของผมกำลังดูหนังซึ่งเปิดเสียงลำโพงดังมากจนผมไม่ได้ยินเสียงกีต้าร์ของผมเลยแต่ผมบังเอิญเอาคางไปแตะบนกีต้าร์ พอแตะก็ได้ยินเสียงกีต้าร์ในหูของผมทันที ผมเลยคิดว่าถ้าเอาปรากฏการณ์นี้มาทำเป็นเครื่องช่วยฟังได้มันจะดีมากเลย” เหมวิชเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมชิ้นสำคัญของเขา


หลังจากปรึกษากับคุณพ่อและคุณแม่ เหมวิชก็เริ่มต้นวิจัยอย่างจริงจัง โดยได้คำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกะโหลกศีรษะ จึงเกิดเป็นผลงานตัวต้นแบบขึ้นมา โดยเครื่องช่วยฟังนี้ใช้สวมกับศีรษะด้านนอกเป็นเครื่องช่วยฟังระบบนำเสียงผ่านกระดูก โดยจะส่งคลื่นเสียงผ่านกระดูกและเข้าหูชั้นในโดยตรง ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าเครื่องช่วยฟังที่มีอยู่ในปัจจุบันเพราะให้เสียงที่นุ่มกว่าเครื่องช่วยฟังทั่วไปที่ต้องเสียบเข้ากับรูหูและให้เสียงค่อนข้างกระด้าง


พอแตะก็ได้ยินเสียงกีตาร์ในหูของผมทันที ผมเลยคิดว่าถ้าเอาปรากฏการณ์นี้ มาทำเป็นเครื่องช่วยฟังได้มันจะดีมากเลย

“ผมได้นำไปทดลองกับผู้พิการทางการได้ยินที่โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งครูและนักเรียน ซึ่งผลคือทำให้ได้ยินเสียงชัดเจนขึ้น ผู้ทดสอบมีความกล้าที่จะทดลองเปล่งเสียงมากขึ้น แววตาของพวกเขาดูดีใจมากๆ ตอนที่ได้ยินเสียงนุ่มจากเครื่องช่วยฟังของผม”


เหมวิชได้รู้จักโครงการ Google Science Fair ครั้งแรกจากการแนะนำของครูชาวต่างชาติที่เห็นการทำงานของเขา แต่การเข้าประกวดนั้นนอกจากผลงานแล้วยังต้องฝึกทำ Mini Thesis ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับตอนนั้น แต่เพราะได้คุณพ่อคุณแม่ที่คอยช่วยเหลือทำให้ผ่านมาได้


“ตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่าการทำ Hypothesis คืออะไร คุณพ่อคุณแม่ก็มาช่วยสอนผมทำ บางทีผมท้อจนร้องไห้ คุณพ่อคุณแม่ก็มาให้กำลังใจให้ผมมุ่งหน้าต่อ”


หลังจากนั้นเหมวิชก็ได้เข้ารอบ 100 คน และ 20 คนจากทั่วโลกตามลำดับ ซึ่งเหมวิชก็เป็นผู้เข้าร่วมที่อายุน้อยที่สุดในตอนนั้น แต่ก็ยังได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และเขายังได้รับโอกาสให้นำเสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วย CEO Google, แพทย์จาก NASA ฯลฯ โดยนอกจากเครื่องช่วยฟังแล้ว เหมวิชยังสังเกตเห็นว่าผู้พิการทางการได้ยินมีปัญหาด้านการออกเสียงเพราะไม่ได้ยินเสียงของตัวเองเวลาพูด ทำให้เกิดเป็นไอเดียในการทำซอฟต์แวร์ช่วยสอนการใช้กระบังลมเพื่อให้สามารถพูดสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการนี้ยังได้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มาช่วยเขียนซอฟต์แวร์ โดยใช้เวลาเรียนเพียง 3 ถึง 5 วัน ผู้พิการก็จะสามารถพูดได้ชัดเจนเหมือนคนปกติ


เหมวิชเล่าว่าหนึ่งในแรงบันดาลใจของเขาอาจเรียกได้ว่ามาจากการเข้าร่วม Google Science Fair ในตอนนั้น และได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้หญิงคนหนึ่งหลังจบงาน


“ผู้หญิงคนนั้นบอกว่าฉันเป็นผู้พิการทางการได้ยิน เขาประทับใจในเครื่องช่วยฟังและตัวผมมาก และรู้ว่าโปรเจกต์ของผมจะสามารถเปลี่ยนโลกได้ขนาดไหน คำพูดนั้นผมคิดว่ามันเป็น One of the most wonderful experience of my life เลยครับ”


เหมวิชยังตั้งใจว่าในอนาคตจะสามารถเปิดบริษัท Startup เป็นของตัวเองเพื่อพัฒนานวัตกรรมและช่วยเหลือผู้พิการทางการได้ยินต่อไป และแม้ในครั้งนี้เหมวิชจะไม่ได้รับรางวัลกลับมา แต่ผลงานและแนวคิดของเขาก็ได้รับการชื่นชมและความสนใจจากสื่อไทยเป็นอย่างมาก รวมทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจและความภาคภูมิใจให้กับชาวไทยที่ติดตามผลงานของเขา เหมวิชฝากถึงทุกคนที่มีไอเดียว่า อย่าเก็บไอเดียเอาไว้อย่างเดียว ต้องลงมือทำด้วย และระหว่างทางก็ต้องมีความอดทนมุ่งมั่น จึงจะสามารถทำให้สำเร็จได้ 


 

A Hearing Aid from A Young Scientist

Thanks to his childhood curiosity, Haemavitch always questioned how things around him worked, and that made him fall in love with science. His exciting journey as a scientist began when he was only 13. He participated in Google Science Fair Program in 2019 with his hearing aid innovation called “EarZ,” and he has become the youngest participant ever reaching the final 20 of the program. EarZ was inspired by his three most loved elements including science, music, and volunteer work. Its function makes it possible for people with hearing loss to experience softer, gentler sound when compared to ordinary hearing aid devices. Moreover, Haemavitch also noticed that people with hearing loss always have problems with pronunciation as they cannot hear themselves when they speak. With support from lecturers at Maejo University, Haemavitch came up with another idea to generate software that provides instructions about how to use a diaphragm so that they could speak more clearly. “For any of you who may have an idea, don’t just keep it to yourself; do it with a real purpose, so we can make everything happen,” said Haemavitch.

105 views0 comments
bottom of page