ผู้กำกับสารคดี ผู้ที่เชื่อว่าเราต่างมีความจริงคนละก้อน
อยู่ที่ใครจะเลือกมุมไหนมาเสนอ
“ความจริงซับซ้อนกว่าจินตนาการ มีแง่มุมมีรายละเอียดที่น่าสนใจกว่า หนังสารคดีคือชีวิตเราต้องเอาชีวิตไปเจอชีวิตเท่านั้นถึงจะเข้าใจ” “ไก่ - ณฐพล บุญประกอบ” สะท้อนกระบวนการคิดจากประสบการณ์การทำภาพยนตร์สารคดีที่ผ่านมา
เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว” ในปี 2561 สารคดีที่ตามติดชีวิตตลอด 55 วันของ อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน Bodyslam ระหว่างการวิ่งข้ามประเทศในโครงการ “ก้าวคนละก้าว” เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ
ไก่เริ่มสนใจงานสารคดีจากการได้ลองทำงานหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นหนังสั้นมิวสิควิดีโอ งานบันเทิง ต่าง ๆ จนกระทั่งช่วงน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 เขาและเพื่อน ๆ ได้รวมตัวกันทำศูนย์กลางให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในชื่อ “รู้สู้ Flood” ผ่านการทำแอนิเมชันวาฬสุดน่ารักและเข้าใจง่ายผ่านการย่อยข้อมูลมหาศาล
“งานนี้ทำให้เราเห็นสิ่งที่เราทำมันเกิดผลกระทบเชิงบวกไปไกล เราเริ่มรู้สึกเหมือนกับว่าในมือมันมีเวทมนตร์ มีพลัง อีกอย่างคืองานที่เราทำไม่จำเป็นต้องเป็นโจทย์บันเทิงอย่างเดียวก็ได้” หลังจากนั้นไก่ก็เริ่มได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสังคมเรื่อยมา กระทั่งถึงจุดที่เริ่มอินมากขึ้น เลยตัดสินใจเดินทางไปเรียนต่อที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
“เคยลังเลว่าจะลงเรียนหนังฟิกชั่นเรียนกำกับ หรือเรียนถ่ายภาพยนตร์ จนกระทั่งได้อ่านหนังสือของเบนซ์ - ธนชาติ ศิริภัทราชัย เรื่อง New York 1st Time ก็พบว่าที่นั้นมีเปิดสอนสาขาเกี่ยวกับสารคดี หลักสูตร 2 ปี บวกกับที่บ้านพอจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายได้ เลยตัดสินใจไปเรียน เพราะอยากเข้าใจว่าสารคดีทำกันอย่างไร ตอนนั้นผู้กำกับสารคดีไทยเองก็ยังน้อย”
เพราะความจริงของแต่ละคนไม่เหมือนกันความจริงบนจอ ผ่านการเลือกมานับครั้งไม่ถ้วน ฉะนั้นการบอกว่า สารคดีเท่ากับความจริง พูดแบบนี้ไม่ยุติธรรมต่อคนที่ต้องเสียผลประโยชน์จากเรื่องเล่าเรื่องนี้
ผลงานสารคดีชิ้นแรก ๆ สมัยเรียนที่ไก่เล่าว่าได้รับผลตอบรับค่อนข้างดีในแง่การได้รับเลือกไปฉายตามเทศกาลต่าง ๆ คือเรื่อง “Alex” เล่าเรื่องผ่านบทสนทนาของแม่ที่ต้องดูแลลูกผู้ซึ่งเป็นอัมพาต ต่อมาเขาได้รับการทาบทามจาก พี่เก้ง - จิระ มะลิกุล แห่งค่าย GDH ให้ทำสารคดีเกี่ยวกับการวิ่งของพี่ตูนที่บางสะพาน ทีแรกเขากะว่าจะกลับมาช่วยช่วงหยุดพักซัมเมอร์แล้วจะกลับไปทำงานต่อที่นิวยอร์ก ทว่าเมื่อโพรเจกต์ได้เปลี่ยนเป็นการติดตามการถ่ายทำวิ่งข้ามประเทศเขาจึงตัดสินใจกระโดดมาทำโพรเจกต์นี้แบบเต็มตัว และไม่กลับไปทำงานที่นิวยอร์กอีกเลย
ความน่าสนใจในกระบวนการทำงานของหนังสารคดีที่ไก่ค้นพบ คืองานสารคดีเป็นงานที่ยืดหยุ่นไม่ใช่เฉพาะในแง่ของวิธีการการถ่ายทำ หรือมุมกล้องเท่านั้น ทว่าคือวิธีคิด การจัดวางเรื่องเล่า ที่ตั้งแต่ช่วงเตรียมงาน ถ่ายทำ และตัดต่อ อาจจะกลายเป็นคนละภาพกันเลย “มีอาจารย์คนหนึ่งตั้งคำถาม สองข้อต่อหนังที่ทำ นั่นคือหนึ่งหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร และสองจริง ๆ แล้วหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร” ไก่เล่าถึงชุดคำถามที่ช่วยให้เขาตั้งต้นเพื่อหาแง่มุมในการเล่าเรื่อง
“ยกตัวอย่างกรณีหนัง 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว ถามว่า “หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร” คำตอบคือ เกี่ยวกับการวิ่งข้ามประเทศของคนคนหนึ่ง ส่วนคำถามที่ว่า “แล้วจริง ๆ หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร” คำตอบคือ ชีวิตคนคนหนึ่งที่ต้องการเติมเต็มตัวเองด้วยการลงมือทำเพื่อคนอื่น กระทั่งมองลึกไปกว่านั้น คือพี่ตูนใช้ชีวิตเหมือนเนื้อเพลงของตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้ก็ตอบตัวตนของพี่ตูนได้ชัดมาก”
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี ไก่พอจะยืนยันได้ว่า กระบวนการทำสารคดี คือการต้องเอาตัวเองไปปะทะกับความจริง ในเมื่อหนังคือชีวิตเราต้องเอาชีวิตไปเจอชีวิตเท่านั้นถึงจะเข้าใจ เขายังมองด้วยว่า หนังสารคดีมีทั้งข้อได้เปรียบและข้อควรระวัง ข้อได้เปรียบที่ว่าคือมันมีพลังในการโน้มน้าวคนได้สูง ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง การเรียบเรียงอย่างประณีต จะทำให้เกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อได้เปรียบอีกอย่างคือ การมียี่ห้อ “ความจริง” คนสามารถที่จะซื้อในสิ่งที่หนังเล่าได้อย่างไม่ตะขิดตะขวง แต่มันก็มาพร้อมกับ ข้อควรระวัง “เพราะความจริงของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความจริงบนจอผ่านการเลือกมานับครั้งไม่ถ้วนฉะนั้นการบอกว่า ‘สารคดีเท่ากับความจริง’ พูดแบบนี้ไม่ยุติธรรมต่อคนที่ต้องเสียผลประโยชน์จากเรื่องเล่าเรื่องนี้”
นี่คือข้อควรระวังของคนทำหนังสารคดีที่ไก่อยากฝาก ขณะที่กระบวนการเดียวที่จะช่วยพัฒนางานต่อได้คือ “การลงมือทำ”
A Documentary Film Maker: Revealing Multiplicity of Truths
Nottapon is a man who was behind the scene of 2215, a Thai documentary about the famous marathon journey, all the way from the southeast to the northeast of Thailand, of a Thai singer, Toon. He ran with the intention to earn money and support 11 hospitals across Thailand. Nottapon started his career from working in the film industry. He had tried working on short films, music videos, and other styles of media. He also worked on social issues and started to feel attached to such kind of work. Therefore, he decided to continue his study in the United States.
When he came back, he got an invitation from GDH to film a documentary of 2215, so he took it. He learned that filming documentary was quite flexible, not in terms of production, but in terms of storytelling. The real story is much more complicated than what we imagined it should be. The documentary filming process lies in real life. Since the story is based on a true story, we really need to assert our life into it. Nottapon’s lesson to all his fans is that the only way to improve the work quality for people in this industry is to really “do it.”
Comments