top of page
  • Writer's pictureNIA 100 FACES

มลฑล มานิตย์ | คลินิกชุมชนแห่งการพึ่งพาที่ยั่งยืน

Updated: Jun 19, 2021



เมล็ดพันธุ์แห่งมิตรไมตรี” คลินิกชุมชนที่ช่วยลดผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล และรักษาอาการให้คนในชุมชน


“ในปี 2538 เพียงปีเดียวหลังจากที่ผมลาออกจากราชการ ตอนนั้นผมหุ้นกับหมอคนหนึ่งเปิดคลินิกเล็ก ๆ ในย่านชุมชนแออัด ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ หลังจากที่เปิดไปได้ไม่กี่ปี ก็ได้รับการติดต่อจากโรงพยาบาลในพื้นที่ให้รับคนไข้ประกันสังคม ซึ่งตอนนั้นเป็นที่รู้กันดีว่าคนไข้ประกันสังคมจะได้รับยาและการบริการที่ด้อยกว่าคนอื่น ผมจึงมาคิดว่าจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเหล่านั้นได้อย่างไร”


“มลฑล มานิตย์” อดีตพยาบาล ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้ง เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ “มิตรไมตรีคลินิก” คลินิกเวชกรรมชุมชน ที่มุ่งเน้นให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในระดับปฐมภูมิ (Primary Care) โดยให้บริการด้านเวชกรรมทันตกรรม และกายภาพบำบัด โดยแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างคลินิกเวชกรรมที่ช่วยให้คนในชุมชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐาน


“คลินิกของเราจะให้บริการในพื้นที่รัศมี 3 กิโลเมตรในเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่น พื้นที่เท่านี้จะทำให้เราดูแลได้อย่างมีคุณภาพและครอบคลุม และถ้าเรามีสมาชิกถึง 7,000 คน ก็จะถึงจุด Break Event พ้นจากนี้ไปเราจะมีกำไร แต่นั่นหมายถึงความหนาแน่นของคนไข้ที่มากขึ้นด้วย เราก็จะนำกำไรที่เกิดขึ้นไปเปิดสาขาใหม่ ผมเรียกสิ่งที่มิตรไมตรีคลินิกทำอยู่นี้ว่า ‘เมล็ดพันธุ์แห่งมิตรไมตรี’ ที่ตกลงตรงไหน ผู้คนก็จะได้พึ่งพา” นี่คือ “วิธีคิด” ที่เป็นหัวใจในสร้างคลินิกเพื่อชุมชนของมลฑลมาโดยตลอด 


ผมเรียกสิ่งที่มิตรไมตรีคลินิกทำอยู่นี้ว่า “เมล็ดพันธุ์แห่งมิตรไมตรี” ที่ตกลงตรงไหนผู้คนก็จะได้พึ่งพา

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้มิตรไมตรีคลินิก “แตกต่าง” และ “โดดเด่น” จากคลินิกเอกชนอื่นก็คือ การมี “คณะกรรมการชุมชน” เข้ามามีส่วนร่วมบริหารคลินิกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนในชุมชน “รับรู้” ว่านี่คือคลินิกของพวกเขา ทุกคนมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงบริการให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นทำให้มิตรไมตรีคลินิกเป็นคลินิกของชุมชนอย่างแท้จริง


ไม่เพียงเท่านั้น มลฑลยังเลือกวาง “จุดยืน” ของมิตรไมตรีคลินิกให้เป็น Gateway ที่กั้นระหว่างชุมชนกับโรงพยาบาล เพื่อไม่ให้คนไข้จำนวนมากทะลักไปยังโรงพยาบาลใหญ่ที่มีคนไข้หนาแน่นอยู่แล้ว เพราะนั่นคือการไปเพิ่มภาระให้กับแพทย์เฉพาะทางโดยไม่จำเป็น


“คนส่วนมากยังคิดว่าถ้าเจ็บป่วยก็ต้องไปโรงพยาบาลศูนย์ หาหมอเฉพาะทาง ทั้งที่จริงแล้วอาการเจ็บป่วยเกินครึ่งของคนในชุมชนคือโรคทั่วไป สามารถคัดกรองและรักษาแบบ Primary Care ได้โดยแพทย์ประจำบ้านตามคลินิกเวชกรรมชุมชน” มลฑลกล่าวเสริม  


นับจากวันแรกที่ “เมล็ดพันธุ์แห่งมิตรไมตรี” ได้ตกลงในชุมชน เติบโต งอกงาม และเกิดเป็นเมล็ดพันธุ์ใหม่ในพื้นที่ใกล้เคียงให้คนได้พึ่งพามาตลอดระยะเวลายาวนานเกือบ 25 ปี ปัจจุบัน มิตรไมตรีคลินิกมีสาขาให้บริการ 73 สาขาใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร ชลบุรี และระยอง มีผู้ลงทะเบียนสิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแห่งชาติ (บัตรทอง) สำหรับผู้ป่วยนอกมากกว่า 350,000 คน และยังคงแผ่ขยายให้คนได้พึ่งพาไปไม่สิ้นสุด


“เวลาเราคิดจะทำอะไร ให้คิดเอาคนอื่นเป็นเป้าหมายเหมือนเวลาที่เราอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อคนที่เรารัก เวลาที่เราคิดถึงคนอื่นก่อน ทำเพื่อคนอื่นก่อน มันมักจะเป็นแรงบันดาลใจให้เราทำทุกอย่างให้สำเร็จ สำหรับผมแล้ว ถ้าเราทำเพื่อคนอื่น ชีวิตของเราก็จะเป็นชีวิตที่มีคุณค่า”


นี่คือข้อคิดที่เป็นแรงบันดาลใจจาก “มลฑล มานิตย์” ผู้ริเริ่มปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งมิตรไมตรีลงบนพื้นดินของชุมชน ให้ผู้คนได้พึ่งพา และเบ่งบานในสังคมไทยอย่างยั่งยืน


 

Seeds of Humanity, a Medical Shelter for Community

Monton Manit, a former nurse, chairman of the executive committee, and founder, told of the beginning of ‘Mith Mitree Clinic’, a community medical clinic that focuses on medical and public health services in the primary care which include providing medical, dental, and physical therapy services by doctors and specialists, with his deliberate intention to provide the community access to standard medical care. “Our clinic covers the area of 3 kilometers in a densely populated urban area. I believe that this area size allows us to be able to take care of people with high quality and comprehensiveness. Once we have 7,000 members in our community medical clinic, we will reach the break-even point which allows us to open a new branch and spread our healthcare services. The name ‘Mith Mitree’, or literally translated as friendship, reflects my intention to help people in a community. What makes Mith Mitree ‘different’ and ‘outstanding’ from other private clinics is that we have the ‘community committee’ to be involved in administering the clinic with the aim of sharing the sense of ownership to the community. I want them to perceive ‘ownership’ of the clinic, and they have rights to express their opinions so as to improve the quality of our community medical clinic. Now, there are 73 branches in 7 provinces, with over 350,000 outpatients registering for the National Universal Health Cover (Gold Card). “When we want to do something, try thinking of doing for others. It can be an inspiration to achieve what we aim for. For me, if I do something for others, my life is also fulfilled.”

998 views0 comments
bottom of page