top of page
  • Writer's pictureNIA 100 FACES

สุพิน ธนวัฒน์เสรี | “โอ-ลั้นลา” คอมมูนิตี้เบิกบานใจสำหรับผู้สูงวัย

Updated: Jun 19, 2021



ด้วยเห็นว่ากลุ่มผู้สูงอายุก็ต้องการการเรียนรู้และแรงบันดาลใจ

นิตยสารเฉพาะกลุ่มที่สุพิน ธนวัฒน์เสรีก่อตั้งขึ้นจึงไม่ได้ให้เพียงข้อมูลบนหน้ากระดาษ


“สุพิน ธนวัฒน์เสรี” คร่ำหวอดอยู่ในวงการสื่อมานานร่วม 25 ปี และในปี 2558 เธอได้รวมตัวกับเพื่อน ๆ ก่อตั้ง “โอ-ลั้นลา (O-lunla)” นิตยสารสำหรับผู้สูงอายุ เดินสวนกระแส Digital Disruption ในยุคที่หลายคนมองว่าสื่อสิ่งพิมพ์ตายไปแล้ว!

สุพินซึ่งมีตำแหน่งเป็นบรรณาธิการเล่าว่า “ทำงานสายสื่อมวลชนมาตลอด ได้อ่านหนังสือ เห็นข้อมูลด้านต่าง ๆ และมีโอกาสได้อ่านบทวิเคราะห์ของกูรูด้านการจัดการคือ ปีเตอร์ เอฟ. ดรักเกอร์ ที่บอกว่าในอนาคตโลกจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จึงมีไอเดียอยากทำสื่อสำหรับผู้สูงอายุ แต่ก็ยังไม่ตกผลึก เพราะสื่อกำลังเปลี่ยนแปลง เราค่อย ๆ ศึกษาข้อมูลและพฤติกรรมผู้สูงอายุ อีกราว 6-7 ปีต่อมา เราถึงตัดสินใจเริ่มทำนิตยสารที่ชื่อว่า ‘โอ-ลั้นลา’ อยู่ภายใต้บริษัทเปเปอร์คอรัส จำกัด”

“เราและเพื่อน ๆ เป็นกลุ่มคนเจเนอเรชันเอกซ์ (Generation X) ที่ต้องดูแลพ่อแม่สูงวัยทั้งเชิงสุขภาพกาย ใจ และพฤติกรรม ขณะที่ตัวเราเองก็เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น ปวดหลัง สายตายาว พูดง่าย ๆ คือเราเป็นกลุ่มคนที่กำลังจะเข้าสู่วัยชราในอนาคตนั่นเอง”

นิตยสารจึงมุ่งสื่อสารกับคนสองวัย คือผู้สูงอายุและลูกหลาน ใช้ชื่อ “โอ-ลั้นลา” ก็เพื่อสื่อถึงความสนุกที่จะได้ทำอะไรใหม่ ๆ การเกษียณอายุไม่ได้หมายความว่าชีวิตจะหยุดนิ่ง แต่ยังสามารถเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ได้อีกมากมาย และต้องเตรียมพร้อมเรื่องสุขภาพตนเองให้ดีด้วย


ภูมิปัญญาและประสบการณ์บางอย่างของผู้สูงอายุควรได้รับการส่งต่อ ไม่ใช่หล่นหายไป คนวัยนี้ยังทำอะไรใหม่ๆ ได้อีกเยอะ

“คนที่มาขึ้นปกไม่ใช่เซเลบริตี้ แต่เป็นผู้สูงอายุธรรมดาอายุ 60 ปีขึ้นไป เพราะเราอยากให้เป็นเรื่องราวแรงบันดาลใจที่ทุกคนทำได้ ในเล่มมีคอลัมน์สัมภาษณ์คนสูงวัยที่ยังทำงาน และเบลนด์คอลัมน์ที่เป็นความเห็นคนรุ่นใหม่เข้าไปด้วย เราตั้งใจให้เป็นนิตยสารอ่านสบาย ฟอนต์ใหญ่อ่านง่าย เลือกเรื่องที่อยู่ในเทรนด์มาเป็นคอนเทนต์ เช่น การทำงานจิตอาสา การเป็นยูทูบเบอร์ การค้นพบอาชีพใหม่หลังวัยเกษียณ”

ปัจจุบันนิตยสารวางในร้านกาแฟ โรงพยาบาล ร้านสินค้าสุขภาพ รวมถึงหน่วยงานราชการต่าง ๆ โดยทีมงานได้พัฒนาเว็บไซต์ Olunla.net และสื่อโซเชียลอย่างเฟซบุ๊กและไลน์แอทในชื่อ Olunlaclub ควบคู่ไปกับการผลิตนิตยสาร เพื่อสร้างเป็นคอมมูนิตี้มีปฏิสัมพันธ์กัน

“ทำไปประมาณ 1 ปี มีผู้ใหญ่ในสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) ติดต่อเข้ามาเพราะเห็นว่าคอนเทนต์น่าสนใจ จึงขยายงานสู่การจัดหลักสูตรปัจฉิมนิเทศให้กับข้าราชการเกษียณ ในชื่อ Retire & Restart เพราะตามงานวิจัยหลายคนเกษียณแล้วอาจจะแฮปปี้อยู่ 2-3 ปี แต่สุดท้ายถ้าไม่เตรียมความพร้อมว่าจะทำอะไรต่อก็อาจจะรู้สึกถดถอยลง การได้เรียนรู้ที่จะทำอะไรใหม่ ๆ ได้พบเพื่อนใหม่ ทำให้มีชีวิตชีวา ไม่เหงา ห่างไกลโรค ซึ่งดีต่อสังคมและประเทศชาติโดยรวม”

นอกจากนั้นยังขยายสู่การจัดงานอีเวนต์ ทั้งที่จัดขึ้นเองและร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ มีเวิร์กชอปเรื่องอาชีพ สุขภาพ การทำอาหาร เรียนร้องเพลง การออกกำลังกาย และจัดทริปท่องเที่ยวอีกด้วย แม้ในวันนี้สื่อ “โอ-ลั้นลา” เป็นที่รู้จักในระดับที่น่าพึงพอใจ แต่สุพินเผยว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะต้องลงมือทำเองทุกขั้นตอน ทว่าเมื่อนั่งมองผลลัพธ์ที่ได้มอบรอยยิ้มและความสุขให้กับกลุ่มคนสูงวัยและลูกหลานแล้ว เธอและทีมงานมีความสุขมาก

“สำหรับคนที่อยากทำสื่อลักษณะนี้ บอกได้เลยค่ะว่าไม่ง่ายท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของวงการสื่อ แต่หากคุณอยากทำจริง ๆ อยากส่งต่อคอนเทนต์ดี ๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ กลุ่มผู้สูงวัยกำลังจะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนี้ภูมิปัญญาและประสบการณ์บางอย่างของพวกเขาควรได้รับการส่งต่อ และคนวัยนี้ยังทำอะไรใหม่ ๆ ได้อีกมากมาย”


 

A Magazine Publisher with a Lot of Love

The idea behind ‘O-lunla’, according to Supin Thanawatseri, is that: “The world is facing a growing number of elders. Their physical and mental health issues can be worrisome, one of which has to do with their worsening optical vision. Therefore, I, together with my acquaintances who also work closely with media, founded ‘O-lunla’ to target not only at the elders but also their younger family members. The name symbolises the joy of doing and learning something new every day, despite living the post-retirement life. We do not feature celebrities on the cover but instead laypeople of sixty years or above so that they can be the source of inspiration to those alike. The fonts used in this magazine are easy-to-read and of optimal sizes.” ‘O-lunla’ can be found at several cafés and waiting areas in hospitals, organizations and tourist attractions all over the country. As a result, it has created the sense of community among the audiences. “After a year, ‘O-lunla’ gained more public recognition, for example, from Office of the Civil Service Commission (OCSC), where our magazine expanded into workshops, short courses, events and outings for retired government officers. These elders are particularly prone to depression.”, Supin added. Despite having an uneasy job, Supin and her team feel assured that every bit of smile and happiness from the target audiences is well worth it.

576 views0 comments
bottom of page