top of page
  • Writer's pictureNIA 100 FACES

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ | วิทยาศาสตร์แก้โจทย์ของสังคม

Updated: Aug 22, 2021



ผู้บริหารคนแรกของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ แห่งชาติ (NECTEC) กับความเชื่อในการแก้ไขและผลักดันสังคม ผ่านวิทยาศาสตร์


ในวัยเยาว์ของ “ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์” เขาคือเด็กชายที่รักและมุมานะในการเรียนเมื่อเข้าสู่ชีวิตอุดมศึกษา เขาใฝ่ฝันถึงการไปศึกษาในต่างประเทศ กระทั่งสอบชิงทุนไปเรียนด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ที่ประเทศอังกฤษ ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก นับเป็นเวลาร่วม 10 ปีกับชีวิตเล่าเรียนในต่างแดน “สมัยผมเรียนนั้นไม่มีห้องปฏิบัติการเลย ตอนหลังประเทศไทยดีขึ้นมาก ไปที่ไหนก็เห็นห้องปฏิบัติการ ซึ่งตรงนี้ช่วยเด็กได้อย่างมากทีเดียว เพราะหากเรียนวิทยาศาสตร์จากหนังสืออย่างเดียว มันไม่ประจักษ์การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์จึงต้องมีการทดลอง” นี่คือแรงบันดาลใจของ ศ. ดร. ไพรัช ผู้บริหารคนแรกของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติหรือเนคเทค (NECTEC) และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

วิทยาศาสตร์สำหรับ ศ. ดร.ไพรัชนั้นตรงไปตรงมา ไม่ต่างอะไรกับสูตรคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่ให้ผลลัพธ์ถูกต้องชัดเจน ทว่าการได้มาซึ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งทางวิทยาศาสตร์ที่จะยังประโยชน์ต่อมนุษย์ สังคมและโลกได้นั้น เขาเหล่านั้นล้วนใช้ทั้งชีวิตเพื่อศึกษาค้นคว้า นั่นหมายความว่าความรักคือพื้นฐานสำคัญของการได้มาซึ่งความรู้

ในปี 2562 ศ. ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ และทีมนักวิจัยจาก สวทช. ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นจากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ หลังจากที่เคยได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นในปี 2534 จากมูลนิธิเดียวกันนี้ เขาจึงเป็นคนเดียวที่ได้รับทั้ง 2 รางวัลจากมูลนิธิดังกล่าวนี้ เขาศึกษาทางทฤษฎีเรื่องการประมวลสัญญาณดิจิทัลด้วยคอมพิวเตอร์ ภายหลังได้นำมาออกแบบและสร้างเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย (Cone Beam CT) กับคณะนักวิจัยของเขาแล้วผลิตออกมาเป็น 3 ลักษณะ คือ หนึ่ง DentiiScan สำหรับงานทันตกรรมช่องปาก สอง MobiiScan เพื่อแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ สาม MiniiScan ตรวจหาขอบเขตทางรังสีของก้อนเนื้อเต้านมในห้องผ่าตัด


เราต้องเอาโจทย์ปัญหาและบริบทของประเทศเป็นตัวตั้ง แล้วทำวิทยาศาสตร์เพื่อไปแก้ปัญหาประเทศ ทำให้ชีวิตคนดีขึ้น ทำสิ่งเล็กๆ ก็ได้ แต่สิ่งนั้นมันผูกพันกับชีวิตคนไทย และสามารถอยู่ในวงจรเศรษฐกิจได้ นั่นคือสิ่งที่เราต่างปรารถนา

“ช่วงแรกที่ผมพัฒนา CT Scanner ออกมา ผมอยากให้ขายได้ไม่ใช่เพราะอยากร่ำรวยอะไรแต่เพราะเป็นช่องทางที่จะเผยแพร่ให้คนไทยได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืน มิฉะนั้นก็จะเป็นเพียงต้นแบบไว้ชื่นชมทางวิชาการในห้องแล็บเท่านั้น ผมมีความสุขที่จะได้ทำอะไรบางอย่างที่ประเทศไทยไม่เคยทำมาก่อนและเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทย งานของเราสามารถช่วยถ่ายภาพสามมิติของกะโหลกศีรษะเพื่อช่วยวางแผนการฝังรากฟันเทียมและช่วยแก้ไขความพิการทางใบหน้า ทำให้เด็กที่เกิดมาพิการมีชีวิต เข้าสังคม เรียนหนังสือและเติบโตได้ ผมและคณะได้นำเครื่อง CT Scanner ไปให้หมอใช้ร่วม 60 แห่งทั่วประเทศ พบว่ามันไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะฝังรากฟันเทียมเท่านั้น แต่มีประโยชน์ในอีกหลายกรณี

จากงานวิจัยสู่เครื่อง Cone Beam CT ดร.ไพรัชเล่าว่า เริ่มทำตั้งแต่เป็นนักวิจัยที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แต่เขาและนักวิจัยไม่มีเงินมากพอที่จะพัฒนางานต่อและไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้สำเร็จ จึงต้องหยุดไปชั่วคราว แล้วหันมาบริหารงานที่เนคเทคและ สวทช. จนเกษียณจากตำแหน่งปลัดกระทรวงดังกล่าว ดร.ไพรัชในฐานะหัวหน้าโครงการก็ไม่ล้มเลิก ใช้ความพยายามอีกครั้งหนึ่งอย่างมากในการพิสูจน์ตนเอง จนกระทั่งได้ทุนมาสร้างเครื่อง CT Scanner นำไปให้โรงพยาบาลทดลองใช้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายก่อน ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลการใช้งานกลับมาปรับปรุงจนเขาและคณะนักวิจัยมั่นใจในคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัยและจริยธรรมทางการแพทย์จึงได้เผยแพร่จำนวนมากต่อไป นับเป็นเวลาร่วม 10 ปีกับการพัฒนาเครื่อง Cone Beam CT จนกลายเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่นอกจากจะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของผู้ป่วยผู้ด้อยโอกาส อีกทั้งยังช่วยลดการนำเข้าอุปกรณ์ทางแพทย์ที่ราคาสูง และสร้างการหมุนเวียนเชิงเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมไทย


“เราต้องเอาโจทย์ปัญหาและบริบทของประเทศเป็นตัวตั้ง แล้วทำวิทยาศาสตร์เพื่อไปแก้ปัญหาประเทศ ทำให้ชีวิตคนดีขึ้น ทำสิ่งเล็ก ๆ ก็ได้ แต่สิ่งนั้นมันผูกพันกับชีวิตคนไทย และสามารถอยู่ในวงจรเศรษฐกิจและสังคมได้ นั่นคือสิ่งที่เราปรารถนา”

 

Science as Key Solutions

Pairash got a scholarship and finished his doctorate degree in electrical engineering from the UK. As a highly experienced researcher, he reminded us of the fact that it is impossible to learn science only from textbooks because we need to experiment. Back in his old days, Pairash never had enough fund for his study, so he turned to work for the National Science and Technology Development Agency (NSTDA). He finally got the financial support and spent about 10 years generating and developing a CT scanner until it was accepted by many scholars and doctors. His invention is being used in hospitals these days. To achieve something, he mentioned, we have to understand the problem, so that we can apply science to solve it. He added, “it is even better when the country invests money in science because it can lead to a high quality of life and progress in the country.” Pairash concluded that for those who are working with science, they must love what they are doing, they must generate as much research as they can, and they must know how to make the highest contribution to their society.

105 views0 comments

Comentarios


bottom of page