จากเสียงพากย์เอกลักษณ์ในรายการ “กระจกหกด้าน” ทางโทรทัศน์
สุชาดี มณีวงศ์ ปรับตัวเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ผ่าน ”ไชโย โอป้า” รายการให้ความรู้ที่ชนะใจคนทุกรุ่นได้พร้อมกัน
ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตและกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ ธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือสื่อโทรทัศน์ “สุชาดี มณีวงศ์” เจ้าของเสียงที่เราคุ้นหูกันดีผ่านรายการโทรทัศน์ ”กระจกหกด้าน” เป็นหนึ่งคนที่ต้องสู้และปรับตัวให้อยู่รอดจากการเปลี่ยนแปลงนี้ เธอทำได้สำเร็จผ่านการสร้างสรรค์รายการใหม่ “ไชโย โอป้า” รายการที่นำเหล่าเซเลบริตี้หรือคนดังที่มีความรู้ในหมวดต่าง ๆ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ออนแอร์บนช่องทาง YouTube ซึ่งสามารถดึงดูดทั้งคนรุ่นเก่าที่ติดตามเธอมาตั้งแต่แพลตฟอร์มเดิม รวมถึงสามารถตีตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้มาสนใจคอนเทนต์ที่เธอนำเสนอได้อีกด้วย
“ตั้งแต่มีเคเบิลทีวี เราก็รู้เลยว่าฟรีทีวีจะถูกแบ่งลูกค้าออกไป พวกเราจึงคิดจะทำสื่อออนไลน์ แต่เนื่องจากการตอบรับของรายการกระจกหกด้านในช่วงนั้นยังดีอย่างต่อเนื่อง พวกเราจึงยังไม่แอ็กทิฟมากนัก แต่เมื่อลางร้ายเริ่มปรากฏในปี 2559 เราจึงเริ่มคิดคอนเซปต์ใหม่ ๆ ขึ้นมา กว่าจะลงตัวก็ใช้เวลาพอสมควร ถ้ามองย้อนกลับไปตอนนั้น ก็ยังนึกเสียใจอยู่ลึก ๆ ว่าเริ่มช้าไป”
นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าคนรุ่นเก่าอย่างคุณสุชาดีที่อาจไม่เท่าทันระบบดิจิทัลในระดับคนรุ่นใหม่ ใช้ “กระบวนการ” อะไรในการปรับทัศนคติของตัวเองเพื่อก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์ “ณ จุดนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับคณะครีเอทีฟของเราที่ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ เอาความเสียเปรียบเรื่องคนไม่เคยเห็นหน้าเรามาเป็น “จุดแข็ง” ให้คนอยากเห็นว่า เสียงพากย์อย่างนี้หน้าตาเป็นอย่างไร เราจึงได้ออกมาโลดแล่นในโลกออนไลน์ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเราเองตามไม่ค่อยทัน ดังนั้น การก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์ เราจะให้ความสำคัญกับวิธีการพัฒนาตัวเองมาก ๆ “ต้องตาดู หูฟัง มือเขียน สมองวิเคราะห์ “ไม่งั้นจะถูกคนรุ่นใหม่ไฟแรงแซงหน้า”
การก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์ เราจะให้ความสำคัญกับวิธีการพัฒนาตัวเองมาก ๆ “ต้องตาดู หูฟัง มือเขียน สมองวิเคราะห์” ไม่งั้นจะถูกคนรุ่นใหม่ไฟแรงแซงหน้า
“อาวุธลับ” ในการปรับตัวของสุชาดีเพื่อกลายเป็น” ยูทูบเบอร์” ในสังคมออนไลน์ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น “เรามีแนวคิดตั้งต้นว่าการทำ “ไชโย โอป้า” ต้อง “รับฟังความคิดเห็นของคนทุกรุ่นทุกวัย” แล้วนำมาผสมกับความเป็นตัวเราเอง และเปิดโอกาสให้คนเจเนอเรชันอื่นวิเคราะห์ วิจารณ์และแก้ไขการทำงานของเรา สิ่งนี้ทำให้เราและคนดูบางคนที่เกิดในยุคเบบี้บูมเมอร์รู้จักความคิดของคนเจเนอเรชันอื่นมากขึ้น และเด็ก ๆ ในเจเนอเรชันอื่น ๆ ก็จะได้เข้าใจคนยุคเบบี้บูมเมอร์มากขึ้นด้วย”
แนวคิดและกระบวนการดังกล่าว ประกอบกับการใช้มืออาชีพในสายงานภาพยนตร์มาช่วยผลิตและรีเสิร์ชข้อมูลแบบเดียวกับการทำสารคดี อีกทั้งมีการประเมินผลทุกขั้นตอนการทำงาน ทำให้สุชาดีประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในฐานะยูทูบเบอร์
“ตลอดระยะเวลาการก้าวเข้ามาสู่เส้นทาง YouTube ก็ไปตามแผนที่วางเอาไว้กับทีม ซึ่งตอนนี้มียอดผู้ติดตามประมาณ 1.5 แสนคน และยอดผู้เข้าชมในแต่ละคลิปของช่อง “ไชโย โอป้า” ก็มีมากถึง 2 แสนครั้งจึงเริ่มมีโฆษณาเข้ามาในช่องเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับยูทูบเบอร์คนอื่น ๆ แต่จุดที่ทำให้ ‘ไชโย โอป้า’ แตกต่างนั้นคือการนำเสนอความบันเทิงผ่านข้อมูลความรู้ ให้ผู้ติดตามค่อย ๆ ซึมซับไปเรื่อย ๆ ทำให้พวกเขาเข้าใจคนในทุกเจเนอเรชัน”
ท้ายที่สุดนี้ สุชาดีมีข้อคิดดี ๆ ฝากถึงผู้ที่อยากริเริ่มเป็นยูทูบเบอร์ในแบบเดียวกับเธอว่า “อยากให้คนที่มีความคิดอยากทำรายการเพื่อให้ข้อมูลความรู้กับสังคมรอบคอบกับการทำรายการมากเป็นพิเศษ เพราะรายการที่ไม่ตลก ไม่หยาบคาย ไม่ดราม่า ค่อนข้างจะอยู่ยากในโลกออนไลน์ ดังนั้นจึงต้องมีความอดทน ขยันหาข้อมูล คอยเติมแรงบันดาลใจให้กับตัวเองเยอะ ๆ และสักวันหนึ่งคุณจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการให้ความรู้ที่ดีกับสังคม”
Voice Over the Decades
Disruption by new technologies like cable televisions has been putting challenges on the media industry. In response to that, Suchadee Maneewong, the familiar voice behind the short documentary series ‘Krajokhokdan’, embraced a more active role as a media personality. She recently launched her brand-new YouTube-based programme named ‘Chaiyo-Opa’, which did not only maintain her former fan base but also successfully attracted younger audiences. Suchadee found this success of hers rather surprising and owed a great deal to her professional, experienced, and knowledgeable team. “We unanimously agreed upon putting me in front of the camera for the first time, which could benefit out of the pre-existing curiosity among the audiences.”, said Suchadee. Process-wise, she further emphasised self-development. “Spy with your eyes, be all-ears, take notes and be analytical, otherwise you will be surpassed by the enthusiastic, energetic youngsters.” Suchadee’s ‘secret weapon’ boiled down to open-mindedness and constant self-evaluation. “Be open to criticisms, especially from people of other generations. Take those criticisms and mix-and-match them with your identity. Constantly improve your way of working.” Suchadee remarked: “The industry definitely needs more personalities who are cautious about delivering messages to the broader society. It is unfortunately difficult for non-comedic, non-vulgar and controversy-free contents to survive in the online platform these days, so you have to be patient, perseverant and self-inspirational.”
Comentarios