top of page
  • Writer's pictureNIA 100 FACES

สุทธิชัย หยุ่น | 50 ปีกับชีวิตสื่อมวลชนจากโลกแอนะล็อกสู่หน้าจอทัชสกรีน

Updated: Jun 19, 2021



“สุทธิชัย หยุ่น” สื่อตัวจริงผู้ไม่เคยหยุดนิ่งในการทำหน้าที่ ตลอดเวลากว่า 50 ปี บนถนนสายข้อมูลและข่าวสาร


ถ้าพูดถึงบุคคลในวงการสื่อมวลชนช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2530 ยาวไปจนถึงทศวรรษ 2540 คุณนึกถึงใคร ?

ในยุคที่ไม่มีโซเชียลมีเดีย หนังสือที่อ่านรายการโทรทัศน์ที่ดู รายการวิทยุที่ฟัง มักปรากฏภาพ“สุทธิชัย หยุ่น” คนข่าวระดับตำนานของประเทศไทยไปทั่วทุกช่องทาง เขาคือผู้ก่อตั้งเครือ The Nation สถาบันการทำข่าวและสื่อสารมวลชนที่เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นอีกหนึ่งหัวเรือที่ช่วยเรียกร้องประชาธิปไตยสมัยเหตุการณ์พฤษภาคม 2535

นับเป็นเวลากว่า 45 ปี ที่สุทธิชัย หยุ่นใช้หัวใจและร่างกายทำงานคลุกคลีอยู่ในวงการสื่อจนเชี่ยวชาญและชำนาญ กระทั่งสิ้นเดือนมีนาคม เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา เขาตัดสินใจประกาศอำลาเนชั่น หลังการเข้ามาของบริษัท News Network Corporation

ทว่าการยุติบทบาทดังกล่าวกลับไม่ได้ปิดประตูจิตวิญญาณสื่อมวลชนของเขา เพราะหลังออกจากเนชั่น สุทธิชัย หยุ่นยังคงสวมหมวกคนข่าวเช่นเคย เพียงแค่หมวกใบนั้นดูทันสมัย โฉบเฉียว และสนุกขึ้น

การเดินทางครั้งใหม่ในเส้นทางเดิม เริ่มต้นขึ้นเพราะมองเห็นโอกาสในปัจจุบันเป็นยุคที่โซเชียลมีเดียเบ่งบาน มีแอปพลิเคชันหลายอย่างที่ผุดขึ้นมาเขย่าพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ให้เปลี่ยนไป จากเดิมที่ต้องรอรับข่าวสารจากการดูโทรทัศน์ในช่วงหัวค่ำ หรืออ่านหนังสือพิมพ์ในช่วงเช้า ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว หากคุณมีแค่โทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ตโฟนเครื่องเดียว


เพราะโซเชียลมีเดียทำได้ดีกว่าคุณด้วยซ้ำไป ฉะนั้นอนาคตถ้าสื่อหลักไม่ปรับบทบาทตัวเองให้เป็นประโยชน์ก็คงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

ฉะนั้นการเกิดขึ้นของเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ทำให้คนทำสื่อตั้งแต่ยุคโบราณอย่างสุทธิชัย หยุ่น ที่เคยใช้พิมพ์ดีดเขียนข่าวส่งหนังสือพิมพ์ไปตามบ้านจึงรู้สึกตื่นเต้นและกระตือรือร้นที่จะทำข่าวเป็นอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือรายการ Suthichai Live ที่ชวนคนมาคุยเรื่องข่าว แบ่งปันประสบการณ์กัน เผยแพร่โดยใช้ช่องทาง เฟซบุ๊ก

“ผมทำเฟซบุ๊กไลฟ์วันละ 2 ครั้ง คล้ายการเขียนคอลัมน์ทุกวันสมัยทำหนังสือพิมพ์ เรื่องที่ผมนำมาเล่ามีความเจาะลึกเฉพาะเรื่องที่ผมสนใจและถนัดไม่ต้องทำทุกอย่าง แต่ถ้าเป็นเรื่องข่าวต่างประเทศที่กำลังร้อน ผมพร้อมติดตามและรายงานให้ตลอดโดยไม่เคยคิดว่าคนดูเยอะหรือน้อย เพราะถ้ามัวแต่สนใจตัวเลขเหล่านั้น ผมจะไม่กล้าทำบางอย่าง ดังนั้น คนที่ติดตามผมเชื่อได้เลยไม่ว่ากี่โมงกี่ยาม ผมจะตามให้ รวมถึงเรื่องในประเทศ ผมทำเฉพาะข่าวที่ผมเชื่อว่าจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เน้นนำเสนอความคิดเห็นของผม มากกว่ารายงานว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะเจ้าอื่นทำเรื่องพวกนั้นได้ดีกว่าผมอยู่แล้ว”

สุทธิชัย หยุ่นอธิบายภาพการเปลี่ยนผ่านของนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในวงการสื่อมวลชนไว้ว่า “สมัยก่อนหากจะทำการถ่ายทอดสดต้องใช้รถ OB คันใหญ่ ๆ ใช้เจ้าหน้าที่ 20 คนเป็นอย่างน้อย เสียค่าดาวเทียมนาทีละเป็นแสน การถ่ายทอดสดแต่ละครั้งเพียงไม่กี่นาที ใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนบาท วันดีคืนดีก็มีเฟซบุ๊กไลฟ์ รายงานข่าวสดได้ทุกที่แบบไม่ต้องเสียเงิน ไม่ต้องใช้คนมากมาย และไม่ใช่แค่เฉพาะการรายงานข่าว แต่ทำให้คนสามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนกันได้ด้วย ผมคิดว่ามันวิเศษสุด”

อ้างอิงจากตำราทางวารศาสตร์ ระบุหน้าที่ของสื่อมวลชนไว้ว่าคือคนเฝ้าประตู (Gatekeeper) ที่มีอำนาจจัดแจงและเลือกสรรว่าในแต่ละวันผู้บริโภคควรอ่านข่าวใดบ้าง “ฉันพาดหัวแบบนี้ คุณต้องอ่านตามลำดับที่ฉันจัดให้ ทีวีก็เหมือนกัน มีข่าวอันดับหนึ่งอันดับสอง จัดเรียงลำดับความสำคัญให้ แต่ทุกวันนี้คนดูไม่ต้องการ เขามีอำนาจตัดสินเองได้จากมือถือว่าข่าวไหนสำคัญหรือไม่สำคัญ สื่อไม่ต้องมาบอก”

ส่วนหน้าที่ในแง่ของการเป็นสุนัขเฝ้าบ้าน (Watchdog) ที่ระบุว่าสื่อควรเป็นผู้จับผิดเรื่องเลวร้ายของสังคม เมื่อเกิดเทคโนโลยีพัฒนา ปรากฏว่าหน้าที่ตรงนี้โซเชียลมีเดียทำได้ดีกว่าสื่อหลักไปแล้ว

“ส่วนบทบาทของสื่อหลักในฐานะ Watchdog ก็หายไป เพราะโซเชียลมีเดียทำได้ดี กระทั่งเรื่องการระดมปัญญารวมหมู่ (Crowdsourcing) ก็ทำได้ดีกว่าคุณด้วยซ้ำไป ฉะนั้นอนาคตถ้าสื่อหลักไม่ปรับบทบาทตัวเองให้เป็นประโยชน์ก็คงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป” สุทธิชัย หยุ่นทิ้งท้าย


 

A Long Journey on the News & Communication Road

Back in the old era without social media, the pictures of Suthichai Yoon, one of the legendary newscasters of Thailand, often appeared in books, TV shows, and radio programs. He founded ‘The Nation Group’ and put blood, sweat and tears in the media industry for over 45 years. In March 2018, he decided to leave The Nation. However, ending that role did not mean the end of his journey. Suthichai Yoon still wears a news hat, but the hat looks more stylish, sleek and fun. The new journey started because he saw opportunities. One of them is ‘Suthichai Live’, in which people are invited to talk about current issues and share experiences using the Facebook channel. “Facebook Live can disseminate new information to a large group of people anywhere, anytime, at a very low cost. It does not require a lot of staff. It does not only report the news, but it also allows people to communicate and share information and opinions with each other. I think it is fantastic. Since social media is diverse, people who know facts in each industry come together and provide useful information. The role of media as a gatekeeper is gone; you have no rights to block the channel through which news is told and reported.”

47 views0 comments
bottom of page