top of page
Writer's pictureNIA 100 FACES

ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา | เพราะวิทยาศาสตร์ สังคม การเมือง และสุขภาพคือเรื่องเดียวกัน

Updated: May 31, 2021



นายแพทย์เจ้าของนามปากกา “หมอดื้อ” ผู้เป็นทั้งนักวิจัย ครูของหมอ และนักสื่อสาร เชื่อว่าโลกวิทยาศาสตร์ไม่มีทางแยกขาดจากโลกของชีวิต


“วิทยาศาสตร์ไม่สามารถแยกออกจากชีวิตและสังคมได้ ถ้าเราไม่เข้าใจชีวิตไม่เข้าใจสิ่งที่สังคมต้องการ สนใจแค่ว่าฉันค้นพบสิ่งนี้ แล้วมันจะเกิดประโยชน์อะไร” ถ้อยคำข้างต้นจาก “ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา” หรือ “หมอดื้อ” ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสมองและโรคอุบัติใหม่หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน

แต่หากค้นหานิยามของหมอธีระวัฒน์เขาบอกว่าตนเป็นเพียงหมอบ้าน ๆ ที่ไม่อยากกอบกำความรู้และประสบการณ์ไว้บนหอคอย จึงลุกขึ้นมาเป็นคอลัมนิสต์ด้านสุขภาพในสื่อหลายสำนักรวมทั้งสร้างเพจเฟซบุ๊กเพื่อส่งเสียงไปสู่สาธารณะบอกเล่าตั้งแต่เรื่องประเด็นสุขภาพ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม จนถึงปากท้อง

ย้อนไปเมื่อครั้งหมอธีระวัฒน์เป็นเพียงนักเรียนมัธยมในรั้วเซนต์คาเบรียล เขาได้พบครูดีผู้ไม่แยกขาดวิชาการในตำราออกจากการใช้ชีวิตทั้งยังตอบคำถามให้เขาได้ว่า เรียนไปทำไม และจะเอาไปใช้ได้อย่างไร “วิทยาศาสตร์ไม่สามารถอยู่รอดฝ่ายเดียวได้ เพราะมันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยชีวิตคนทั้งหมด หมายความว่า เราต้องเข้าใจชีวิตและสังคมด้วย เราจึงทิ้งความเป็นมนุษย์ไปไม่ได้เลย”


วิทยาศาสตร์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยชีวิตคนทั้งหมด หมายความว่า เราต้องเข้าใจชีวิตและสังคมด้วย ด้วยเหตุผลนี้เราจึงทิ้งความเป็นมนุษย์ไปไม่ได้เลย

“สิ่งนี้ทำให้เราตัดสินใจว่า ถ้าไม่เขียนสิ่งต่าง ๆ ออกมา เราจะสื่อสารในวงกว้างไม่ได้ เวลาเขียนต้องเอาพื้นฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์มาปูพื้น ให้คนอ่านใช้เป็นเอกสารอ้างอิงได้เวลาไปพูดกับหมอ ใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาประกอบกับบริบทสังคม เพื่อให้สอดคล้องกับชีวิตของคน ที่สำคัญคือ ต้องเขียนให้ชาวบ้านชาวช่องอ่านเข้าใจได้”

กระบวนการดังกล่าวคือกระบวนทัศน์ทางความคิด ในการนำองค์ความรู้ งานวิจัย และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ มาย่อยให้จับต้องได้และไม่ไกลตัว ข้อเขียนของหมอธีระวัฒน์จึงมักสะท้อนภาพตัวละครและองค์ประกอบที่เราต่างเห็นได้หากเดินไปตามท้องถนนหรือในหน้าหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่เรื่องเหล้าขาว กัญชา พาราควอต ไปจนถึงเชื้อไวรัส

“เวลาเราจะพูดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราต้องรู้ว่าจุดมุ่งหมายคืออะไรและเพื่อใคร ถ้าต้องการทำให้ชีวิต เศรษฐกิจ สังคม การศึกษาดีขึ้น เพื่อความเสมอภาคสำหรับทุกคน นั่นแปลว่าเราไม่ได้ต้องการยาชนิดหนึ่งในราคา 100 ล้าน แต่ช่วยคนได้แค่ 0.5% ของประเทศไทย แต่เราต้องการยาที่ใช้ได้กับคนทั้งประเทศ ยาที่จับต้องได้และจ่ายได้”

เพราะวิทยาศาสตร์ สังคม การเมืองและสุขภาพคือเรื่องเดียวกันในทรรศนะของเขา “หลายคนบอกว่าประเทศไทยไม่มีความเหลื่อมล้ำแต่หากเราเดินไปที่สวนลุมฯ ในช่วงล็อกดาวน์โควิด-19 เราจะเห็นคนไม่มีข้าวกินนับร้อยภาพเหล่านี้อธิบายได้ว่ามาตรการต่าง ๆ เข้าไม่ถึงคน เรามองว่าการเข้าถึงการศึกษาคือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ผู้คนลุกขึ้นต่อสู้และปกป้องตัวเองนั่นจึงจะถือว่าเป็นประเทศไทย 4.0 จริง ๆ ไม่ใช่เพราะมีเทคโนโลยีที่คนเข้าถึงได้เพียงหยิบมือ”

หลายเรื่องราวไม่เคยถูกบอกเล่าไว้ในตำราเรียน ทั้งความหิวและความแร้นแค้นของผู้คนถูกจับแยกขาดออกจากระบบสาธารณสุข เส้นทางที่จะเดินออกจากความเหลื่อมล้ำอาจเป็นเพียงภาพยูโทเปีย หากความรู้และความเข้าใจถูกผูกขาดไว้เพียงใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

“ต้องยอมรับว่า เวลาที่หมอช่วยชีวิตคน เราดูเหมือนพระเจ้า นานเข้าเราก็จะเกิดความอหังการขึ้น เราเริ่มจะไม่ฟังสิ่งที่คนไข้อยากสื่อสาร มุ่งแต่จะรักษาตามตำราคู่มือที่เขียนไว้ เขาอาจจะไม่ได้ต้องการมีชีวิตรอดไปได้เพียงหนึ่งปี แต่ต้องเจ็บปวดทรมาน ต้องขายบ้านขายช่องเพราะบัตรทองไม่ครอบคลุม เพราะหมอกำลังมองคนเป็นวัตถุ เป็นเพียงแต่สาระอันหนึ่งเท่านั้นหรือ”

“สิ่งสำคัญของการสื่อสาร คือการยกระดับความรู้ความสามารถนั้นขึ้นมา ด้วยวิธีคิดในการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งในสภาพจริงของสังคม เราชอบพูดว่าเราจะไม่ทิ้งใคร แต่จริง ๆ เราทิ้งคนไว้เต็มไปหมดเลย”

 

Dr. Stubborn: Science, Life, and Society are Inseparable

Because science, society, politics, and health are the same thing. “Science is inseparable from life and society. If we don’t understand life, don’t understand what society wants, but are only interested in what we discovered, then what is the benefit?” This is said by Prof. Thiravat Hemachudha, MD, a Thai neurologist who specialises in brain and emerging diseases. He is currently head of the Center for Emerging Disease Health Sciences, Faculty of Medicine Chulalongkorn Hospital, Thai Red Cross Society, and also the Director of the World Health Organization Cooperation Center. Wanting to put his knowledge and experience into good use, he became a health columnist and created a Facebook page to share ideas about health, society, politics, and environment. “If we don’t write things, we can’t communicate more broadly. When writing, we have to base the groundwork on scientific data, let the readers use it as a reference for them to talk to their doctor. Dr. Thiravat relies on scientific evidence related to the life of the people because for him, it is important that the locals read and understand his messages.”

151 views0 comments

Comments


bottom of page