top of page
  • Writer's pictureNIA 100 FACES

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล | เมืองของผู้คน

Updated: Aug 22, 2021



มองเมืองผ่านสายตา UddC ผู้ตั้งคำถามและเสนอทางออก บนฐานข้อมูลเมืองและการออกแบบด้วยการร่วมหารือ


“สะพานด้วน” ชื่อเล่นของพื้นที่ว่างความยาว 280 เมตร ที่ถูกทิ้งร้างไม่มีทางขึ้นลงกว่า 30 ปี บนสะพานพระปกเกล้าปัจจุบันถูกดัดแปลงให้กลายเป็นสวนสาธารณะทางเดินทางจักรยานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมชื่อใหม่ว่า “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” เชื่อมต่อชุมชนในย่านเมืองเก่าพระนคร-ธนบุรี สองฝั่งน้ำ ด้วยทางเดินทางจักรยานสีเขียวและพื้นที่ชื่นชมทัศนียภาพเมือง นี่คือโครงการนำร่องของแผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟูเมืองกรุงเทพฯ 250 ที่สำเร็จลงได้ด้วยการผลักดันของกรุงเทพมหานคร ร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกรมทางหลวงชนบท ที่วางบนแนวคิดหลักเพื่อส่งเสริมการสัญจรในเมือง (Urban Mobility) ให้ย่านในเมืองเดินได้เดินดี ที่มี ผศ. ดร.นิรมล เสรีสกุล เป็นหัวหน้าศึกษาและออกแบบ


เดินได้เดินดี

“ไม่มีเมืองน่าอยู่แห่งไหนในโลกนี้ที่เดินไม่ได้ เดินไม่ดี หากเรามีเมืองที่ดี อาจจะพอช่วยบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำได้บ้าง” ผศ. ดร.นิรมล เสรีสกุล อธิบายว่า การเดินไม่เพียงส่งผลในเรื่องของสุขภาพเท่านั้น แต่การที่ผู้คนสามารถสัญจรไปมาได้ด้วยการเดิน และพึ่งพาขนส่งสาธารณะได้เต็มที่ยังส่งเสริมให้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ และยังกระตุ้นให้เกิดความสงสัย นำไปสู่การเรียนรู้ “การวิจัยมากมายชี้ว่า สมองทำงาน เมื่อเท้าออกเดิน เวลาเราเดินอย่างสบายใจ ความคิดสร้างสรรค์จะเริ่มทำงาน แต่เมืองเราไม่ใช่แบบนั้น เดินไป ระวังไป สงสัยไปว่าภาษีเราไปไหนกันนะ”

สิ่งนี้เองที่เป็นต้นกำเนิดของ “เมืองเดินดี” โครงการที่เกิดจากความร่วมมือกันของ UddC และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอีกหลายโครงการที่ UddC เข้าไปมีส่วนในการพัฒนาเพื่อให้เกิดการสัญจรด้วยเท้า จักรยาน และขนส่งมวลชนอย่างมีประสิทธิภาพ

“หากเราอยู่ในเมืองที่ไปไหนมาไหนได้ด้วยการเดินและการใช้ขนส่งสาธารณะ รวมทั้งเดินดี นั่นคือเดินสะดวก เดินปลอดภัยและน่าเดิน โอกาสที่ความมั่งคั่งจะกระจายจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ไปยังร้านค้าเล็ก ๆ ตามตรอกซอกซอยย่อมมี นอกจากนั้นโอกาสที่เราจะลดต้นทุนจากการลดค่าเดินทางก็มาก”

แต่โครงการเหล่านั้นจะเป็นไปไม่ได้เลยหากมองจากหากมองจากสายตาของนักออกแบบเพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้จึงมีการรวบรวมข้อมูลสำหรับใช้ในการดำเนินโครงการจากการผนวกเอาการศึกษาข้อมูลจากทั้งฝ่ายตัวแทนชุมชน และชุดข้อมูลขนาดใหญ่ มาทำการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญหลายแขนง ทั้งนักวิทยาศาสตร์สถิติ นักเศรษฐศาสตร์นักสังคมศาสตร์ และนักออกแบบมาทำงานร่วมกันชุดข้อมูลที่ได้จากการสังเคราะห์ นอกจากจะใช้เป็นพื้นฐานในการออกแบบโครงการต่าง ๆ ของ UddC แล้วยังถูกเผยแพร่ให้กับองค์กรบริหารชุมชน และผู้ที่สนใจแนวคิดเมืองเดินได้ (Walkable Cities) ไปใช้ในการออกแบบพัฒนาพื้นที่เมืองอื่น ๆ นอกกรุงเทพฯ


เมืองที่ดี คือเมืองที่ใส่ใจผู้คน

“ช่วงแรกของการทำงานเป็นช่วงต่อสู้กับมายาคติ คนชอบถามว่าทำไปทำไม ทำไปคนเขาก็ไม่เดินกันหรอก ก็ต่อสู้ด้วยชุดข้อมูล เอาเข้าจริงผลสำรวจชี้ว่าพื้นที่ศักยภาพของเมืองที่ใช้ชีวิตโดยไม่ต้องใช้รถยนต์มีไม่น้อย ประมาณ 60% ของพื้นที่เขตเมืองชั้นใน นอกจากนั้น มีคนในกรุงเทพฯ มากถึง 68.8% ที่เดินอยู่ เดินผสมใช้ขนส่งมวลชน แต่อาจจะเป็นการเดินแบบทนเดิน เดินไม่สะดวก ไม่ปลอดภัย แต่หากเราปรับปรุงสภาพแวดล้อมการเดินให้ดี ตัวเลขก็น่าจะเพิ่มขึ้น”

“เมืองมีผลกับเรามากกว่าเราคิด เคยพูดขำ ๆ ว่า หากเราอ้วน จน ไม่มีแฟน เราอย่าโทษตัวเองนะ โทษเมืองก่อน เมืองทำให้เราเป็นแบบนี้” ดร.นิรมล ยืนยัน ไม่ว่าจะมองจากแง่มุมไหน เมืองที่เราอาศัยอยู่ก็จะส่งผลกระทบต่อวีถีชีวิตเสมอ คุณภาพชีวิตของประชากรในเมืองเป็นสิ่งที่ใหญ่โตเกินกว่าจะเป็นภาระของผู้อาศัยโดยลำพังเท่านั้น “เป้าหมายของ UddC คือเราต้องการคำถามใหม่ ๆ ต้องการทางออกใหม่ ๆ”

“เราดีใจทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ความสนใจเรื่องเมือง รวมทั้งได้นำข้อเสนอหลายๆประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเดิน เรื่องพื้นที่สีเขียว ไปผนวกในนโยบายพัฒนาเมือง เราดีใจที่ข้อเสนอของเราจะเป็นประโยชน์และสามารถเกิดขึ้นได้จริง” เธอกล่าวทั้งในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง และในฐานะประชากรคนหนึ่งของเมือง


 

Making a People’s City through Collaboration

Niramon is a lecturer from the Department of Urban and Regional Planning, Faculty of Architecture, Chulalongkorn University who has turned a largely abandoned area around Phrapokklao bridge into ‘Chaopraya Skypark,’ a public park and pedestrian bridge that helps reconnect nearby communities. The project is a pilot collaboration among the communities, both public and private sectors, to make Bangkok a walkable city empowered by Urban Design and Development Center (UddC) of which Niramon is the director. Her expertise deriving from numerous studies and professional experiences has given people higher quality of life through a simple walk. The walk, which is fundamental for people living in a good city, is good for both the physical and intellectual health. Considered worthless and impossible in the beginning, many collaborative projects have finally started to emerge to facilitate urban travelling a combination of waking, cycling, and public transportation which can help reduce social inequality. Based on a large amount of data, specialists in several fields, statisticians, economists, sociologists, and designers have come together to tackle this problem in all aspects and to propose an adaptable model for other urban areas. “Since our lives are affected by the city we are living in, this problem is too severe to leave the citizens to deal with on their own and we are honoured to see our initiations included in the relevant policy.”


113 views0 comments
bottom of page