top of page
Writer's pictureNIA 100 FACES

แทนไท ประเสริฐกุล | เสียงหัวเราะจากโลกของวิทยาศาสตร์และการวิจัย

Updated: Jun 19, 2021




จากฝุ่นธุลีถึงดวงดาว คำอธิบายจากชายอารมณ์ดีคนหนึ่ง

ถึงสาเหตุว่าทำไมวิทยาศาสตร์ควรเป็นหัวข้อสนทนาในชีวิตประจำวัน


ย้อนกลับไปราวปี 2548 ขณะนั้น “แทนไท ประเสริฐกุล” ชายหนุ่มอารมณ์ดี มีอาชีพหลักเป็น ครูสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมศึกษา ทำวิจัยวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในภาควิชาชีววิทยา เขาเริ่มเขียนหนังสือเล่มแรก และเริ่มงานอดิเรกที่ยังไม่ค่อยมีใครเข้าใจไปพร้อมกัน… เขาฟัง “พอดแคสต์”

เขาเล่าว่า “ช่วงที่ค้นพบโลกของพอดแคสต์ในฐานะของผู้ฟัง ผมขับรถไปต่างจังหวัดบ่อยมาก แล้วก็ทำงานวิจัยปลาหมึกที่ต้องนั่งเฝ้าดูมันทั้งคืน ก็เลยมีพอดแคสต์นี่แหละเป็นเพื่อน” รายการโปรดของแทนไทมีชื่อว่า The Skeptic Guide to The Universe รายการข่าววิทยาศาสตร์รายสัปดาห์ที่เลือกหยิบยกข่าวความเคลื่อนไหวและประเด็นทางวิทยาศาสตร์มาพูดคุยกันง่าย ๆคล้ายการล้อมวงคุยกันของเพื่อนฝูงในบรรยากาศสบาย ๆ ความประทับใจนี้นำไปสู่การทำรายการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในแบบของตัวเอง


มาฟัง WiTcast

แทนไทเริ่มทำ WiTcast ตอนแรกในปี 2555 ซึ่งเป็นช่วงที่สื่อบันเทิงอย่างพอดแคสต์ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในไทยนัก เขาเลือกสื่อสารด้วยวิธีนี้เพราะเชื่อในความสามารถในการแทรกตัวไปกับกิจกรรมอื่น ๆ ในวิถีชีวิตของผู้ฟังได้โดยที่ไม่ต้องทุ่มสมาธิในการรับสารเหมือนกับหนังสือ หรือคลิปรายการทางอินเทอร์เน็ต

ชายหนุ่มอารมณ์ดีคนนี้เชื่อมั่นว่าการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์เป็นทางออกของปัญหาความเข้าใจผิดต่าง ๆ ที่แพร่กระจายอยู่ในสังคม และการพูดเรื่องวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องพูดกันด้วยท่าทีจริงจังเคร่งขรึมเสมอไป ความรื่นรมย์ของข่าวสารวิทยาศาสตร์คือการที่มันตอบสนองธรรมชาติความช่างสงสัยใครรู้ของมนุษย์ เนื้อหาของ WiTcast จึงมีตั้งแต่เรื่องใกล้ตัวมาก ๆ เช่น โรคภัย อวัยวะภายในสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงสิ่งที่อยู่ไกลออกไปเกินตามองเห็นอย่างปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในห้วงอวกาศ เจือด้วยอารมณ์ขันที่ชวนให้นึกถึงเพื่อนสักคนที่ชอบเล่าเรื่องสนุก ๆ ให้ฟัง “เราเคยคุยเรื่องการขับถ่ายในอวกาศ ดอกไม้ที่หน้าตาเหมือนเนื้อเน่า บางเรื่องมันไม่เกี่ยวอะไรกับชีวิตเราหรอก แต่คุยกันแล้วมันสนุก มันน่าเกลียดจนมันฮา ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามเชิงลึกด้วยว่า เวลาธรรมชาติออกแบบสิ่งต่าง ๆ มันมีอะไรอยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านั้นบ้างนะ”


จำนวนกลุ่มผู้ฟังขึ้นมาจากหลักสิบคนจนถึงหลักหมื่นคนเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าอารมณ์ขันของ WiTcast นั้นพาเจตนารมณ์ของแทนไทไปถึงมือผู้รับฟังพอดแคสต์ได้โดยสวัสดิภาพ จนกระทั่งเขาได้รับทุนจาก สกว. ให้ต่อยอดผลงานออกมาเป็น WiTThai รายการสื่อสารผลงานของนักวิจัยไทยที่ได้รับทุนวิจัยระดับชาติในเวลาต่อมา


มันมีสุนทรียะอยู่ในสังคมที่พูดคุยเรื่องวิทยาศาสตร์กันได้ทั่วไป ผมฝันว่าวันนึงบ้านเมืองเราจะเป็นแบบนั้นได้บ้าง

ภาวะที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของวิทยาศาสตร์

“ลองนึกถึงการไปประเทศหนึ่งแล้วประเทศนั้นไม่มีคนฟังเพลงหรือไม่มีใครเล่นกีฬากันเลยคงเหมือนบางอย่างแหว่งหายไปใช่ไหมและถ้าประเทศเราไม่มีใครคุยกันเรื่องวิทยาศาสตร์เลย ทั้งแบบสนุกเอาฮา หรือเอาลึกซึ้งสาระ มันก็แหว่งไปแบบเดียวกันกับการไม่มีดนตรีหรือกีฬา”

แทนไทเห็นว่าการพูดคุยเรื่องวิทยาศาสตร์มีส่วนในการพัฒนาการคิดอย่างเป็นระบบของสังคมสิ่งที่เป็นแรงขับให้เขายังคงเดินหน้าสื่อสารเรื่องราววิทยาศาสตร์ คือความหวังว่าจะได้เห็นสังคมที่รุ่มรวยพอที่จะตื่นเต้นกับการค้นพบใหม่ ๆ การขบคิดเกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกลตัวเกิดขึ้นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ชายอารมณ์ดีผู้นี้รอคอยที่จะได้เห็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์หน้าใหม่ ๆ ปรากฏตัวขึ้นเพื่อช่วยกันขยายพรมแดนทางความคิดให้กว้างไกลออกไป

“เรายังขาดนักวิทยาศาสตร์อีกหลายแบบ เช่น แบบตลก จริงจัง คมคาย หรือแม้แต่แบบเซ็กซี่ เหมือนกับว่ามันเป็นทุ่งหญ้าโล่ง ๆ มีอะไรให้สำรวจอีกมากมาย ผมอยากให้มีคนประสบความสำเร็จตรงนี้เพิ่มขึ้นอีก เพื่อที่สังคมจะได้พูดคุยกันในประเด็นที่ลึกซึ้งและสำคัญมากขึ้น” จากฝุ่นธุลีถึงดวงดาว คำอธิบายจากชายอารมณ์ดีคนหนึ่งถึงสาเหตุว่าทำไมวิทยาศาสตร์ควรเป็นหัวข้อสนทนาในชีวิตประจำวัน


 

A Man Who Makes Science Super Fun

Back to 2005 when Tanthai was a science teacher and did his PhD in Biology, he started writing his first book and began his uncommon hobby-listening to ‘podcasts’. “Podcasts became my best friend when I drove far away from the city or while I was doing PhD research project.” Tanthai’s favourite podcast is The Skeptic Guide to the Universe, a news podcast updating recent scientific news and issues in simple words like talking among friends. This impression inspired him to launch his own podcast channel-WiTcast. WiTcast was first launched in 2012 when podcasts were not famous in Thailand. Tanthai decided to launch this because he believed that people could listen to it at ease at their own time. Also, we do not have to put talking about scientific knowledge in a serious way but in a fun and friendly manner. Because of its sense of humor, the audience base gets bigger and wider and he was then granted the scholarship from the Thailand Research Fund to develop WiTThai. “Our world is still full of many underexplored and bare areas, where many more science communicators are needed to help widen such horizons. Live your life with excitement at new discoveries and thirst for knowledge, and you could be another science communicator to our world!”


216 views0 comments

Comments


bottom of page